วันศุกร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

สรุปผลการประชุม ศรส. เมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗


ศูนย์รักษาความสงบ หรือ ศรส. มีผลการประชุมสมควรแจ้งให้พี่น้องประชาชนทราบ ดังนี้

๑.   ศรส.ได้รับแจ้งจากศูนย์ข่าวร่วมและตำรวจสันติบาลว่า  ยอดผู้ชุมนุมของ กปปส. ทุกเวทีจำนวนรวมกันเมื่อวานนี้ คือ ๓,๙๐๐ คน  ซึ่งนับว่ามีจำนวนลดน้อยลงเป็นลำดับ  ศรส.จึงขอขอบคุณพี่น้องประชาชนที่ได้ร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหา โดยไม่เข้าร่วมชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสนับสนุน กปปส. กลุ่มคัดค้าน กปปส.  กลุ่ม นปช. หรือกลุ่มอื่น ๆ การที่พี่น้องประชาชนงดเว้นไม่เข้าร่วมชุมนุม     ยังเป็นผลดีต่อการหลีกเลี่ยงไม่ให้มีการสูญเสียชีวิตและการบาดเจ็บจากเหตุร้ายต่าง ๆ ที่ทวีความรุนแรงขึ้นด้วย

สำหรับการชุมนุมของกลุ่ม กวป. ที่บริเวณด้านหน้าสำนักงาน ป.ป.ช. นั้น  ศรส.ขอเรียกร้องให้แกนนำที่จัดการชุมนุมได้เลิกการชุมนุมเพราะได้สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ใช้เส้นทางการจราจรบนถนนนนทบุรี ๑ เป็นอย่างมาก  รวมถึงการชุมนุมปิดกั้นประตูสำนักงาน ป.ป.ช. ทำให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. และข้าราชการไม่สามารถเข้าออกเพื่อทำงานตามปกติได้  แกนนำ กวป. จะต้องรับผิดชอบกับการกระทำดังกล่าว ซึ่งเป็นการสร้างเงื่อนไขความยุ่งยากให้แก่บ้านเมืองมากขึ้นไปอีก

๒.   ศรส.ขอขอบคุณศาลอาญาที่ได้กรุณาสั่งไม่เพิกถอนหมายจับแกนนำ กปปส. ๑๘ คน ประเภทหมาย ฉ. ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ  โดยศาลอาญามิได้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแพ่งที่สั่งห้าม ศรส. ๙ ข้อ มาใช้พิจารณาตามคำร้องของฝ่ายผู้ต้องหา  ศรส.จะได้ดำเนินการติดตามจับกุมผู้ต้องหาทั้ง ๑๘ คนต่อไป  แม้การเข้าจับกุมจะทำได้ลำบากตามคำสั่งของ     ศาลแพ่งก็ตาม

๓.   ตามนโยบายของ ศรส. ร่วมกับส่วนราชการต่าง ๆ ได้เห็นถึงความจำเป็นและความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนจากการปิดกรุงเทพมหานครของ กปปส.  โดยเฉพาะสถานที่ราชการ  ดังนั้น เพื่อให้สถานที่ราชการสามารถกลับมาเปิดให้บริการประชาชนได้ตามเดิม  ศรส. ร่วมกับส่วนราชการจึงได้ดำเนินการเปิดสถานที่ราชการต่าง ๆ ที่ถูกปิดให้เริ่มเปิดทำการได้ถึง ๖๓ แห่งแล้ว  แต่หลังจากที่ศาลแพ่งได้มีคำพิพากษา ส่งผลให้ ศรส.ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญหลักตามกฎหมายได้  และเป็นผลให้ กปปส. ไปบุกรุก ปิดล้อมสถานที่ราชการและขับไล่ข้าราชการไม่ให้ทำงานอีก ข้อมูลจนถึงเช้าวันนี้ กปปส. ได้กลับไปบุกรุกปิดล้อมส่วนราชการและบริษัทเอกชน รวมจำนวน ๑๔ แห่ง ซึ่ง ศรส.จะได้พยายามทุกวิถีทางให้สถานที่ราชการดังกล่าวกลับมาเปิดให้บริการอีกให้จงได้

๔.   ศรส.ได้รับรายงานจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  ณ วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗  ว่า ได้รับคดีที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามกฎหมายเลือกตั้ง ดังนี้

๑)   คดีขัดขวางการเลือกตั้งทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น ๑๙๐ คดี  แยกเป็นคดีที่ กปปส.ในกรุงเทพมหานครกระทำการขัดขวางการเลือกตั้ง ๕๑ คดี  และคดีที่ กปปส.ในต่างจังหวัดกระทำการขัดขวางการเลือกตั้ง ๑๓๙ คดี

๒)   คดีที่เจ้าหน้าที่ กกต. จงใจละทิ้งไม่จัดการเลือกตั้ง รวมทั้งสิ้น ๑๗๓ คดี แยกเป็นคดีที่เกิดในกรุงเทพมหานคร จำนวน ๖๒ คดี  และคดีที่เกิดในต่างจังหวัดจำนวน ๑๑๑ คดี

รวมคดีที่เกี่ยวกับการกระทำผิดต่อกฎหมายเลือกตั้งทั้งสิ้น ๓๖๓ คดี  โดยศาลได้ออกหมายจับให้ รวมทั้งสิ้น ๑๔๑ คน  ได้ตัวมาสอบสวนแล้ว ๕๙  คน  ทั้งนี้เฉพาะเจ้าหน้าที่ กกต. จงใจละทิ้งไม่จัดการเลือกตั้งมีจำนวนถึง ๗๖๖ คน ซึ่งโทษที่เกี่ยวข้องกับการขัดขวางการเลือกตั้งเป็นความผิดอุกฉกรรจ์ที่มีทั้งโทษจำคุกและปรับ รวมถึงการตัดสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา ๕ ปี  ตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง

ศรส.จึงได้กำชับให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีดังกล่าวโดยรวดเร็วและรัดกุม เพื่อป้องปรามไม่ให้มีการกระทำความผิดซ้ำอีก โดยเฉพาะการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นในเร็ววันนี้

๕.   ผู้อำนวยการ ศรส.ได้มีหนังสือแจ้งปลัดกระทรวงทุกกระทรวงที่ถูก กปปส. ปิดล้อม บุกรุกสถานที่ราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐในการกำกับดูแล ให้ดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษหรือฟ้องคดีทั้งคดีอาญาและคดีแพ่งกับแกนนำ กปปส. โดยต้องแยกดำเนินการเป็นต่างกรรมต่างวาระทุกครั้ง  ที่มีการเข้าปิดล้อมและบุกรุกภายใน ๗ วัน หลังจากเกิดเหตุทุกครั้งไป

๖.   ตามที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ต้องหาในฐานความผิดร่วมกันเป็นกบฏที่เป็นแกนนำ กปปส. บางคนในจำนวน ๕๘ คน ได้ไปก่อความเดือดร้อนและคุกคามบุคคลต่าง ๆ เช่น ไปห้อมล้อม คุกคาม     เป่านกหวีด และพูดจาข่มขู่บุคคลต่าง ๆ ตามที่สาธารณะ เช่น ศูนย์การค้านั้น เป็นการกระทำที่ไม่สมควรเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและละเมิดสิทธิส่วนบุคคล  ศรส.จึงเห็นควรให้      กรมสอบสวนคดีพิเศษออกหมายเรียกผู้ต้องหาเหล่านี้มาดำเนินคดีในข้อหาหลัก คือ ข้อหาร่วมกันเป็นกบฏดังกล่าว และหากไม่มาพบพนักงานสอบสวนจะได้ดำเนินการขอออกหมายจับเพื่อการจับกุมต่อไป

จึงประกาศมาเพื่อทราบทั่วกัน

CMPO's announcement of 28/02/2014


February 28, 2014

At 13:00 hrs. Mr.Tharit Pengdit, Director-General, the Department of Special Investigations, briefed the press on the outcome of the meeting of the Center For Maintaining Peace and Order (CMPO).

1. The number of protesters at all protest sites on 27th February was approximately 3,900 people. The CMPO appreciated the public for not joining the rallies of all sides; pro- and anti- the People's Democratic Reform Committee (PDRC), the United Front of Democracy Against Dictatorship (UDD), and other groups to minimize the risks. For the demonstration at the office of the National Anti-Corruption Commission (NACC), the CMPO wished to require leaders of the protesters to clear the way for officials to enter.

2. The CMPO appreciated the Criminal Court for not revoking arrest warrants against 18 person under the Emergency Decree. The CMPO will continue with the legal actions against those who faced arrest warrants.

3. The CMPO had managed to reopen 63 government offices. However, since the Civil Court's ruling, members of the PDRC have blockaded government once again. The PDRC has trespassed on and besieged 14 government agencies.

4. So far, there are 190 cases involving election obstructions (51 cases in Bangkok and 139 cases in other provinces) and 173 cases involving the failure of electoral officers to perform their duties (62 cases in Bangkok and 111 cases in other provinces). 141 person already faced arrest warrants.

5. The Director of the CMPO has instructed the Permanent Secretaries of all government agencies to take legal actions both criminal and civil processes against members of the PDRC who have blockaded the government premises within 7 days.

6. The CMPO has received a report that some of 58 person, who have been already charged and faced arrest warrants, have threatened other people in the public areas. The CMPO wished to warn that such actions are violating others' rights. The CMPO has assigned the DSI to proceed with legal actions against those with arrest warrants.

ผอ.ศรส.เผยไม่เห็นด้วยที่นายกรัฐมนตรีจะเจรจากับเลขาธิการ กปปส.


ผอ.ศรส.เผยเคารพการตัดสินใจของนายกฯ เรื่องการเจรจากับเลขาธิการ กปปส. แต่ส่วนตัวไม่เห็นด้วยที่นายกฯ จะเจรจากับเลขาธิการ กปปส.ซึ่งเป็นผู้ต้องหาคดีกบฏ-ผู้ต้องหาตามหมาย ฉ. พร้อมสั่งการทุกกระทรวง กรม ฟ้องร้องแพ่ง-อาญากลุ่ม กปปส.ที่บุกรุกสถานที่ราชการ ระบุไม่เลือกที่รักมักที่ชังจะเอาผิดทุกกลุ่มผู้ชุมนุมที่กระทำผิดกฎหมาย

วันนี้ (28 ก.พ.57) เวลา 10.35 น. ที่ศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ผู้อำนวยการ ศรส. ให้สัมภาษณ์ในฐานะสมาชิกพรรคเพื่อไทย แสดงความคิดเห็นกรณีที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. จะขอพบและเจรจากับนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แบบตัวต่อตัวออกโทรทัศน์ให้ประชาชนทั่วประเทศรับทราบ ว่า ส่วนตัวไม่ทราบว่านายกฯ จะตัดสินใจอย่างไร แต่คิดว่านายกฯ ไม่ควรให้เกียรตินายสุเทพ เพราะนายสุเทพเป็นผู้ต้องหาคดีกบฏ เป็นผู้ต้องหาตามหมาย ฉ. เป็นผู้นำ กปปส. ซึ่งเป็นองค์กรเถื่อน ขณะที่นายกฯ เป็นผู้นำประเทศตามกฎหมายและตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ตนมองว่านายสุเทพไม่มีทางไป ขอพบนายกฯ แต่ถ้านายกฯ ไปพบ ตนก็เคารพการตัดสินใจของนายกฯ ในฐานะสมาชิกพรรคเพื่อไทยคนหนึ่ง คิดว่านายกฯ ไม่ควรให้เกียรตินายสุเทพ เพราะนายสุเทพไม่มีเกียรติ พูดร้อยแปดพันครั้งว่าจะไม่พบนายกฯ โดยเด็ดขาด จะจับ จะยึดทรัพย์ จะเนรเทศนายกฯ จะเนรเทศทั้งตระกูล เพราะนายสุเทพไม่มีทางไปถึงกลับมาทางนี้ ทั้งนี้ ยืนยันว่าทั้งหมดเป็นความคิดของตนเอง ไม่เกี่ยวกับ ศรส.

“ความเห็นของผม เรายึดมั่นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยใช่ไหม ปี 49 พวกคุณปฏิวัติ ร่างรัฐธรรมนูญ พวกผมเป็นฝ่ายค้าน คุณแพ้เลือกตั้งใช่ไหม คุณมาปล้นคนของพวกผมไป ตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร นายอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ นายอภิสิทธิ์กับนายสุเทพแก้ปัญหาม็อบตายเกือบ 100 คน บาดเจ็บเกือบ 2,000 คนใช่ไหม คุณยุบสภาฯ คุณเป็นรัฐบาล ผมเป็นฝ่ายค้าน พวกผมชนะเลือกตั้งใช่ไหม คุณแพ้เลือกตั้งในขณะนั้นครั้งหนึ่ง รัฐบาลรัฐประหารครั้งที่สอง คุณเป็นนายกฯ พวกผมชนะเลือกตั้ง เมื่อพวกผมชนะเลือกตั้งมาตลอด คราวนี้คุณไม่ลงเลือกตั้งเพราะคุณกลัวแพ้การเลือกตั้ง วิธีที่ดีที่สุดคุณต้องยอมรับเลือกตั้งแล้วต้องเลือกตั้งให้เสร็จ ตั้งรัฐบาลแล้วอยู่สั้น ๆ ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ นายสุเทพ มีความคิดจะปฏิรูปการเมืองอย่างไรเสนอมา แต่ต้องถามประชาชนว่าเอาด้วยไหม ถึงวันนั้นนายกรัฐมนตรีก็ยุบสภาฯ เลือกตั้งใหม่ภายใต้การปฏิรูปที่ทุกฝ่ายยอมรับ วิธีนี้ดีที่สุด ไม่เสี่ยงคุก ไม่เสี่ยงตาราง สมมติมาเรียกร้องให้นายกฯ ลาออก พอนายกฯ ลาออก พวกนั้นก็ไปแจ้งจับนายกฯ” ร.ต.อ.เฉลิมกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในฐานะ ผอ.ศรส. จะมีทางเลือกอื่นนอกเหนือจากการที่นายกรัฐมนตรีเจรจากับนายสุเทพแบบตัวต่อตัว ให้ต่างฝ่ายต่างมีตัวแทนมาเจรจากันหรือไม่ ผอ.ศรส. กล่าวว่าไม่ขอแสดงความเห็น เมื่อถามต่อว่า นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ประธานที่ปรึกษา ศรส. เสนอให้ ร.ต.อ.เฉลิม พูดคุยกับนายสุเทพ โดยผอ.ศรส. กล่าวว่า “ผมไม่คุย ผมเป็น ผอ.ศรส. นายสุเทพเป็นผู้ต้องหาคดีกบฏ”

ผอ.ศรส. กล่าวถึงจำนวนผู้มาร่วมชุมนุมกับนายสุเทพว่ามียอดสูงสุดอยู่ที่ 210,000 คน โดยเมื่อคืนที่ผ่านมายอดผู้ชุมนุมเหลือเพียง 3,000 กว่าคน ที่เวทีชุมนุมสี่แยกปทุมวันนายสุเทพขึ้นพูดมีคนฟัง 3,700 คน แต่พอนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ขึ้นพูด ผู้ชุมนุมลดลงเหลือประมาณ 800 คน ตนมองว่าพวกนี้ไม่ใช่นักปราศรัย เพราะนักปราศรัยต้องพูดให้คนฟังรู้สึกโกรธแทน แต่นี่พูดไปโกรธไป ด่าไป คนฟังก็กลับบ้านหมด ตนเป็นนักปราศรัยที่เวลาปราศรัยมีเนื้อหาสาระ เมื่อคนฟังก็รู้สึกโกรธแทน แต่นี่โกรธเอง คนเลยกลับหมด เรื่องไม่สนุกก็สนุกเอง

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ผู้ชุมนุมประกาศระดมพลเคลื่อนไหวยกระดับขับไล่นายกรัฐมนตรี และมีเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้น ผอ.ศรส. กล่าวว่า ไปขับไล่ ถ้าเข้าล็อค เจ้าหน้าที่ก็จับ วันนี้ในที่ประชุม ศรส. ตนจะสั่งการทุกกระทรวง กรม ให้ฟ้องร้อง กปปส. ที่ไปบุกรุกสถานที่ราชการทั้งทางแพ่งและอาญา และหมายจับ ฉ. 18 ฉบับก็มีผลแล้ว


ผู้สื่อข่าวถามว่า มีกระแสข่าวออกมาว่าประมาณกลางเดือนมีนาคมนี้ เหตุการณ์ทุกอย่างจะเรียบร้อย ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ผอ.ศรส. กล่าวว่า ไม่ทราบ แต่ถ้าถามตน ๆ คิดว่า พวกแพ้เลือกตั้งแล้วมาตีรวน แพ้เลือกตั้งแล้วมาแย่งคนของเขาไป ไปตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในฐานะที่เป็น ผอ.ศรส. จะดูความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมทุกกลุ่มหรือไม่ ผอ.ศรส. กล่าวว่าดูทุกกลุ่มที่เคลื่อนไหว การที่กลุ่ม นปช. ประกาศเคลื่อนไหวปิดองค์กรอิสระ เพราะเลียนแบบนายสุเทพที่เชื่อว่าศาลแพ่งให้ทำได้ เมื่อถามต่อว่า ศรส. จะดำเนินการฟ้องทั้งทางแพ่งและอาญากับกลุ่มผู้ชุมนุมทุกกลุ่มใช่หรือไม่ ผอ.ศรส. กล่าวว่า ใครทำผิดก็เหมือนกันหมด ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง

พร้อมกันนี้ ร.ต.อ.เฉลิม ได้กล่าวขอเตือนนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง ว่า ให้ทำหน้าที่เฉพาะหน้าที่ของตัวเอง เพราะทุกวันนี้นายสมชัยออกมาให้สัมภาษณ์จนสร้างความสับสน นายสมชัยมาจากการเลือกตั้ง จากคน 6 คน แต่พรรคเพื่อไทยและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้งของประชาชน นายสมชัยพยายามพูดจาชี้นำสังคมไทยโดยปราศจากข้อเท็จจริง ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าไปประชุมที่จังหวัดสงขลาจะเกิดปัญหา ก็ยังพยายามที่จะดำเนินการให้เกิดการประชุมให้ได้ ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าเมื่อยุบสภาฯ แล้วพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้งออกได้ครั้งเดียว ก็พยายามจะเสนอศาลรัฐธรรมนูญ นายสมชัยรู้หรือไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญมีแนวโน้มความรู้สึกนึกคิดไม่ตรงกับพรรคเพื่อไทย ตนขอร้องให้นายสมชัยหยุด และอยากให้ กกต. อีก 4 คนออกมาพูดบ้าง ไม่ใช่ให้นายสมชัยพูดอยู่คนเดียว มาสร้างความสับสน ที่นายสมชัยพูดนั้นไม่มีหลักมีเกณฑ์

วันพฤหัสบดีที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

สรุปผลการประชุม ศรส. เมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗


ศูนย์รักษาความสงบ หรือ ศรส. มีผลการประชุมสมควรแจ้งให้พี่น้องประชาชนทราบ ดังนี้

๑.   ศรส.มีความห่วงใยต่อพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร จากการชุมนุมปิดกรุงเทพของ กปปส. ซึ่งสถานการณ์ในวันนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปจนเกิดเหตุร้ายรายวัน  ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการกระทำของฝ่ายใดหรือกลุ่มใด  ก็ล้วนเป็นภัยอันตรายต่อพี่น้องประชาชนเป็นอย่างยิ่ง  ศรส.ได้ขอร้องไม่ให้ทุกฝ่ายออกมาเผชิญหน้ากัน ทั้งกลุ่มสนับสนุน กปปส.  กลุ่มต่อต้าน กปปส.  กลุ่ม นปช. และกลุ่มอื่น ๆ  ซึ่งดูจะไม่ได้ผล  ศรส. จึงจำเป็นต้องแจ้งเตือนและขอร้องอย่างจริงใจต่อพี่น้องประชาชนว่า  ขอให้ทุกคน  ได้โปรดอยู่ที่บ้าน  โดยงดเว้นการเข้าร่วมชุมนุมไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใด  เพราะนอกจากจะเป็นการเพิ่มความวุ่นวายและซ้ำเติมสถานการณ์อันเลวร้ายต่อบ้านเมืองแล้ว  ตัวท่านเองและบุตรหลานก็จะได้รับอันตรายจากการเข้าร่วมชุมนุมด้วย  และในภาวะวิกฤติจนอาจกลายเป็นสงครามกลางเมืองเช่นนี้  การบาดเจ็บล้มตายจะหาตัวผู้กระทำผิดหรือกลุ่มคนที่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายหรือนำตัวมาลงโทษ จะเป็นไปโดยยากมาก

ศรส.ยังยืนยันว่า ศรส.ไม่ใช่คู่ขัดแย้งกับ กปปส.  กับ นปช.  หรือกับกลุ่มใด  แต่ ศรส.เป็นหน่วยงานพิเศษตามกฎหมายที่จัดตั้งขึ้นเพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตย และบังคับใช้กฎหมายเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง  นำความสงบสุขกลับคืนสู่บ้านเมืองเหมือนเช่นเดิมโดยเร็ว  แต่ ศรส.จะปฏิบัติหน้าที่ไม่สำเร็จลุล่วงเลยถ้าขาดการร่วมมือจากพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะความร่วมมือที่จะไม่ออกจากบ้านไปชุมนุม หรือไปยังสถานที่เสี่ยงในยามวิกาล

อนึ่ง แม้ ศรส.จะมีข้อจำกัดในการปฏิบัติหน้าที่ตามคำพิพากษาของศาลแพ่งด้วยข้อห้าม ๙ ข้อ ดังเป็นที่ทราบกันดีแล้วนั้น  ศรส.ร่วมกับตำรวจ  ทหารและพลเรือน ทุกฝ่ายก็จะพยายามปฏิบัติหน้าที่ภายใต้ข้อจำกัดอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้

ศรส.ได้รับทราบผลการหารือระหว่างนายบัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติ กับ       รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานที่ปรึกษา ศรส.ว่า  สถานการณ์ความขัดแย้งที่กำลังรุนแรงอยู่ในขณะนี้ สมควรที่ทุกฝ่ายจะได้หันมาร่วมกันเจรจาเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดสำหรับประเทศไทย โดย นายบัน คี มุน แสดงความพร้อมที่จะร่วมช่วยเหลือในทุก ๆ มิติกับคนไทยและประเทศไทย โดยเฉพาะการนำเอาแนวทางและประสบการณ์ของนานาประเทศที่เคยเกิดเหตุการณ์ทำนองนี้ มาเป็นข้อมูลประกอบการแก้ปัญหาด้วย

๒.   ตามนโยบายของ ศรส. ร่วมกับส่วนราชการต่าง ๆ ได้เห็นถึงความจำเป็นและความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนจากการปิดกรุงเทพมหานครของ กปปส.  โดยเฉพาะสถานที่ราชการ  ดังนั้น เพื่อให้สถานที่ราชการสามารถกลับมาเปิดให้บริการประชาชนได้ตามเดิม  ศรส. ร่วมกับส่วนราชการจึงได้ดำเนินการเปิดสถานที่ราชการต่าง ๆ ที่ถูกปิดให้เริ่มเปิดทำการได้ถึง ๖๐ แห่งแล้ว  แต่หลังจากที่ศาลแพ่งได้มีคำพิพากษา ส่งผลให้ ศรส.ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญหลักตามกฎหมายได้  และเป็นผลให้ กปปส. ไปบุกรุก ปิดล้อมสถานที่ราชการและขับไล่ข้าราชการไม่ให้ทำงานอีก ข้อมูลจนถึงเช้าวันนี้ กปปส. ได้กลับไปบุกรุกปิดล้อมส่วนราชการและบริษัทเอกชน รวมจำนวน ๑๑ แห่ง  นอกจากนี้ยังมีกลุ่ม   สื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือ กลุ่ม กวป.  ได้เข้าปิดล้อมสำนักงาน ป.ป.ช. และมีกลุ่มชาวนาเข้าไปอยู่ในบริเวณกระทรวงพาณิชย์ แต่มิได้มีการปิดล้อมขับไล่ข้าราชการแต่อย่างใด

๓.   ศรส.ได้รับรายงานจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่า  ณ วันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗  ได้รับคดีการขัดขวางการเลือกตั้งทั่วประเทศไว้แล้วรวมถึง ๑๘๙ คดี  แยกเป็นคดีที่ กปปส.ในกรุงเทพมหานครกระทำการขัดขวางการเลือกตั้ง ๕๑ คดี  กปปส.ในต่างจังหวัดกระทำการขัดขวางการเลือกตั้ง ๑๓๘ คดี  คดีที่เจ้าหน้าที่ กกต. จงใจละทิ้งไม่จัดการเลือกตั้งในกรุงเทพมหานคร จำนวน ๖๒ คดี  และในต่างจังหวัดจำนวน ๑๑๐ คดี รวมคดีทั้งสิ้น ๓๖๑ คดี  โดยศาลได้ออกหมายจับให้ รวมทั้งสิ้น ๑๔๑ คน  ได้ตัวมาสอบสวนแล้ว ๕๕  คน  ทั้งนี้เฉพาะเจ้าหน้าที่ กกต. จงใจละทิ้งไม่จัดการเลือกตั้งมีจำนวนถึง ๗๖๖ คน                     ศรส.จึงได้กำชับให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีดังกล่าวโดยรวดเร็วและรัดกุม เพื่อป้องปรามไม่ให้มีการกระทำความผิดซ้ำอีก โดยเฉพาะการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นในเร็ววันนี้

๔.   ตามที่นายสุเทพ  เทือกสุบรรณ แกนนำหลักของ กปปส. แถลงว่า  ยินดีให้ตำรวจและทหารเข้าตรวจความเรียบร้อยในเขตที่มีการจัดชุมนุมได้แล้ว หลังจากที่เดิมไม่ยอมให้เข้าพื้นที่เลยแม้จะมีเหตุร้ายใด ๆ ก็ตาม  ดังนั้น ศรส.จะได้จัดตำรวจและทหารเป็นหน่วยตรวจร่วมเข้าตรวจความเรียบร้อยและเหตุร้ายในบริเวณชุมนุมต่อไป

๕.   ตามนายบุญยอด  สุขถิ่นไทย  ได้ออกมาให้ข่าวกับสื่อมวลชนว่า ศรส.ตั้งมา ๓๓ วัน ใช้เงินไปกว่าหนึ่งหมื่นล้านบาทนั้น  ศรส.ขอชี้แจงว่า ข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด  ในความเป็นจริงนั้น คณะรัฐมนตรีเพิ่งจะมีมติอนุมัติงบประมาณค่าใช้จ่ายให้ ศรส. แต่ยังจะต้องขอความเห็นชอบ กกต. ก่อน  โดยค่าใช้จ่ายที่จะได้รับนั้นล้วนเป็นค่าเบี้ยเลี้ยงและค่าอาหารของทหารและตำรวจที่เข้าร่วมปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของทางราชการ  โดย ศรส.ขอยืนยันทุกรายการใช้จ่ายจะเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายทั้งสิ้น และเป็นไปโดยประหยัดเท่าที่จำเป็น ซึ่งไม่ได้มีจำนวนมากมายดังที่เป็นข่าว การให้ข่าวของนายบุญยอดฯ จึงเป็นการจงใจบิดเบือนและให้ร้ายต่อ ศรส.

๖.   สำหรับเหตุร้ายที่เกิดต่อสถานที่ตั้งของ ศรส. โดยมีกองกำลังไม่ทราบฝ่าย ใช้อาวุธเครื่องยิงลูกระเบิด ยิงระเบิด M๗๙  เข้าใส่ ศรส. รวม ๒ ครั้ง  โดยล่าสุดคือ เมื่อคืนวานนี้นั้น  เป็นการกระทำของคนร้ายที่ขาดความรับผิดชอบและพยายามที่จะสร้างสถานการณ์โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายต่อสถานที่ราชการและอันตรายที่จะเกิดกับเจ้าหน้าที่หรือประชาชนผู้บริสุทธิ์ จึงควรแก่การถูกประณามเป็นอย่างยิ่ง

จึงประกาศมาเพื่อทราบทั่วกัน

ผอ.ศรส.ตรวจจุดยิงระเบิดเอ็ม 79 ใส่ที่ตั้ง ศรส. พร้อมสั่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเหตุ-กล้องวงจรปิด


ผอ.ศรส. ตรวจจุดยิงระเบิดเอ็ม 79 ใส่ที่ตั้ง ศรส.หลังเกิดเหตุระเบิดเมื่อคืนนี้ สั่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเหตุ เช็คกล้องโทลล์เวย์ ถ้าปรากฏหลักฐานว่าใครทำผิดจะดำเนินคดีตามกฎหมาย ปฏิเสธข่าวเบิกจ่ายงบประมาณการทำงานของ ศรส.กว่า 1หมื่นล้านบาท


วันนี้ (27 ก.พ.57) เวลา 10.45 น. ที่ศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในฐานะผู้อำนวยการ ศรส. ได้ตรวจสอบบริเวณลานจอดรถภายในสโมสรตำรวจ ซึ่งอยู่ห่างจากรั้วอาคาร บช.ปส. ที่ใช้เป็นที่ตั้งของ ศรส. ประมาณ 50 เมตร โดยพื้นที่ลานจอดรถดังกล่าวเป็นจุดตั้งเต็นท์ที่พักของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มาปฏิบัติหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยตามภารกิจของ ศรส. ซึ่งถูกคนร้ายยิงระเบิดเอ็ม 79 ใส่ เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 26 ก.พ.ที่ผ่านมา แต่ระเบิดไม่ทำงานทำให้ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต

จากนั้น ผอ.ศรส. กล่าวว่า เมื่อวานนี้เวลาประมาณ 19.00 น. ตนได้ลงจากห้องทำงานภายในอาคาร บช.ปส. มาขึ้นรถเพื่อเดินทางกลับ จากเดิมที่ตนจะออกทางประตูด้านหน้าสโมสรตำรวจ แต่ตำรวจรายงานว่ามีม็อบแชร์ลูกโซ่จึงเปลี่ยนออกประตูด้านข้าง ซึ่งยังไม่ทันจะพ้นบริเวณก็ได้ยินเสียงระเบิด จึงได้รีบตรวจสอบโดยได้รับรายงานเบื้องต้นว่าเป็นระเบิดเอ็ม 79 หนึ่งลูกตกข้างเต็นท์ที่พักของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองบึงกาฬ แต่ระเบิดไม่ทำงาน เพราะตำรวจเหล่านี้คงทำบุญมาดี จากนั้นก็มีเสียงระเบิดดังอีก 2 ลูก ไปตกที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ซึ่งตนขอแสดงความเสียใจด้วย เพราะเขาเป็นสื่อไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย ตนไม่กล้าบอกว่าใครทำ แต่ก็มีการสืบสวน และดูกล้องวงจรปิดของทางด่วนโทลล์เวย์ ขณะนี้ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ ตรวจสอบและรวบรวมหลักฐาน ซึ่งหน่วยเก็บกู้และตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิด หรือ อีโอดี จะรายงานผลการตรวจสอบกล้องวงจรปิด บนทางด่วนยกระดับโทรลเวลย์ รวมทั้งวิถีการยิงอีกครั้ง โดยในช่วงบ่ายตนจะไปรับรายงาน เบื้องต้นยังไม่ทราบว่าเป็นฝีมือของกลุ่มใด ถ้าปรากฏหลักฐานว่าใครทำผิดก็ต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย แต่เจตนาของคนทำชัดเจนว่าหวังประทุษร้ายต่อชีวิต ถ้าจับได้ก็ต้องตั้งข้อหาพยายามฆ่าเจ้าพนักงานขณะปฏิบัติหน้าที่

“เมื่อเกิดเหตุแล้วต้องระวัง รัศมีการยิง 400 เมตร เราก็ขยับจุดที่ตั้งเต็นท์มาหน่อย ส่วนมาตรการรักษาความปลอดภัยวางไว้เต็มร้อย ทั้งหมดทางตำรวจไม่บกพร่องแต่มีคนคิดชั่ว ในฐานะผมเป็นตำรวจเก่า มาทำหน้าที่ตรงนี้ต้องมั่นคงไม่หวั่นไหว คนอย่างเฉลิมไม่เคยเปลี่ยนใจ ไม่เคยเกรงกลัว อยากยิงมายิง กล้ายิงก็กล้าตาย แต่จะไปโทษมั่วไม่ได้ว่าใครทำ ผู้ที่สร้างเหตุการณ์หวังให้เกิดความรุนแรง ยกระดับให้เมืองไทยเกิดกลียุค แต่ผมพยายามใช้สติแก้ปัญหา” ผอ.ศรส. กล่าว

ผอ.ศรส. กล่าวถึงกรณีที่ กปปส.ระบุว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ขี้กลัว ไม่มีความกล้า ว่า ตนขอชี้แจงว่าไม่เป็นความจริง นายกฯ ยังทำงานตามปกติ เมื่อวานนี้ก็เดินทางไปดูการแก้ปัญหายาเสพติดที่จังหวัดเชียงราย เนื่องจากมีความห่วงใย แต่ที่นายกฯ ไม่อยากแสดงตัวให้รู้ เพราะม็อบอ้างคำสั่งศาลแพ่งว่าจะเดินทางไปไหนก็ได้ ไม่ต้องกลัวเกรงการถูกสกัดกั้น อยากให้ศาลแพ่งรู้ไว้ว่าคำสั่งของท่านทำให้สถานการณ์เป็นแบบนี้ ขณะเดียวกันเมื่อครั้งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ปราบปรามคนเสื้อแดงจนเสียชีวิต และบาดเจ็บจำนวนมาก ยังอวดดีเสนอหน้าว่านายกฯ ขี้กลัว ตนอยากถามว่าช่วงที่พวกคุณปราบคนเสื้อแดง พวกคุณนอนที่ไหนถ้าไม่ใช่ในค่ายทหาร แต่นางสาวยิ่งลักษณ์ยังทำงานตามปกติ พูดถึงหัวใจนายกฯ ที่เป็นสุภาพสตรีเหนือว่าชายอกสามศอกอย่างนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ร้อยเท่า

พร้อมกันนี้ ผอ.ศรส. ได้กล่าวชี้แจงการใช้งบประมาณของ ศรส.ด้วยว่า ตั้งแต่ตนมารับหน้าที่ตรงนี้ 1 เดือน ขอเรียนด้วยความสัตย์จริงว่าตนไม่เคยเบิกเงินเลยแม้แต่สตางค์แดงเดียว แต่ตนทำด้วยใจรัก ทำด้วยหน้าที่ เพราะหัวใจของตำรวจต้องรักษาความสงบ พิทักษ์สันติราษฎร์ ไม่ได้คิดชั่วอย่าง กปปส.กล่าวหา

วันพุธที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

สรุปผลการประชุม ศรส. เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗


ศูนย์รักษาความสงบ หรือ ศรส. มีผลการประชุมสมควรแจ้งให้พี่น้องประชาชนทราบ ดังนี้

๑. ที่ประชุม ศรส. กำหนดเชิญปลัดกระทรวงทุกกระทรวงเพื่อหารือร่วมกันในเรื่องที่จะจัดให้มีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารเข้าดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยให้กับส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐอื่น ๆ ในวันพฤหัสบดีที่ ๒๗ กุมภาพันธ์นี้  เวลา ๑๔.๐๐ น. ณ ห้องประชุม ชั้น ๒       ศูนย์รักษาความสงบ กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด  

๒. ที่ประชุม ศรส. มีความเป็นห่วงพี่น้องประชาชนที่เข้าร่วมการชุมนุมกับ กปปส. ว่า นับแต่ศาลแพ่งได้มีคำพิพากษาห้าม ศรส. กระทำการรวม ๙ ข้อ อันเป็นอำนาจหน้าที่หลักตามกฎหมายเป็นต้นมา  สถานการณ์ความรุนแรงก็มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นตามลำดับและต่อเนื่องกันทุกวัน  มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ  ซึ่ง ศรส.มีข้อมูลว่า ได้มีกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงในลักษณะกองกำลังปะปนอยู่กับกลุ่ม กปปส. และจะลงมือใช้อาวุธเป็นระยะ ๆ จึงขอร้องพี่น้องประชาชนให้งดเว้นการเข้าร่วมการชุมนุมโดยเด็ดขาด  สำหรับ ศรส.เองก็ได้เพิ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจตราความเรียบร้อยทั่วทั้งกรุงเทพมหานครแล้ว  และก็มีข้อจำกัดที่กลุ่มการ์ด กปปส. ไม่ยอมให้ตำรวจเข้าในพื้นที่การชุมนุม  รวมทั้งข้อจำกัดตามข้อห้ามของศาลแพ่งด้วย  แต่ตำรวจก็จะพยายามปฏิบัติหน้าที่ให้ดีที่สุด

๓. ตามนโยบายของ ศรส. ร่วมกับส่วนราชการต่าง ๆ ได้เห็นถึงความจำเป็นและความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนจากการปิดกรุงเทพมหานครของ กปปส.  โดยเฉพาะสถานที่ราชการ  ดังนั้น เพื่อให้สถานที่ราชการสามารถกลับมาเปิดให้บริการประชาชนได้ตามเดิม  ศรส. ร่วมกับส่วนราชการจึงได้ดำเนินการเปิดสถานที่ราชการต่าง ๆ ที่ถูกปิดให้เริ่มเปิดทำการได้ถึง ๕๓ แห่งแล้ว  แต่หลังจากที่ศาลแพ่งได้มีคำพิพากษา ส่งผลให้ ศรส.ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญหลักตามกฎหมายได้  และเป็นผลให้ กปปส. ไปบุกรุก ปิดล้อมสถานที่ราชการและขับไล่ข้าราชการไม่ให้ทำงานอีก ข้อมูลจนถึงเช้าวันนี้ กปปส. ได้กลับไปบุกรุกปิดล้อมส่วนราชการและบริษัทเอกชน รวมจำนวน ๑๑ แห่ง ได้แก่ กรมศุลกากร  กระทรวงการต่างประเทศ  กระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง กรมสรรพากร กรมโยธาธิการและผังเมือง  กรมสรรพสามิต  สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย  สถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี  บริษัทเอ็มลิ้ง เอเชีย     คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)  และอาคารชินวัตรทาวเวอร์ ๓  อย่างไรก็ตาม ศรส.ก็ได้พยายามทุกวิถีทางให้มีการเปิดสถานที่ราชการเพิ่มเติม รวมทั้งที่ถูกปิดล้อมด้วย  ในวันนี้มีส่วนราชการกลับมาเปิดให้บริการได้อีก ๗  แห่ง ดังต่อไปนี้  สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร  สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  กรมการพัฒนาชุมชน สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานสถิติแห่งชาติ

เนื่องจากการปิดล้อมยึดสถานที่ราชการของกลุ่ม กปปส.  ส่งผลให้ส่วนราชการที่ถูกปิดล้อมไม่สามารถให้บริการประชาชนได้ และมีทรัพย์สินของทางราชการ สูญหายหรือได้รับความความเสียหาย  ซึ่งการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายเป็นความผิดอาญา  ศรส.จึงได้ขอความร่วมมือให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐที่ถูกปิดล้อมบุกรุกดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษเกี่ยวกับความผิดและความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อพนักงานสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อเป็นการบังคับใช้กฎหมายและเป็นการป้องปรามมิให้มีการกระทำผิดเช่นนั้นอีก

๔. ศรส.ได้รับรายงานจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่า  ณ วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗  คือวันนี้ ได้รับคดีการขัดขวางการเลือกตั้งทั่วประเทศไว้แล้วรวมถึง ๑๘๘ คดี  แยกเป็นคดีที่ กปปส.ในกรุงเทพมหานครกระทำการขัดขวางการเลือกตั้ง ๕๐ คดี  กปปส.ในต่างจังหวัดกระทำการขัดขวางการเลือกตั้ง ๑๓๘ คดี  คดีที่เจ้าหน้าที่ กกต.ที่เป็นพวก กปปส. จงใจละทิ้งไม่จัดการเลือกตั้งในกรุงเทพมหานคร จำนวน ๖๒ คดี  และในต่างจังหวัดจำนวน ๑๑๐ คดี  โดยศาลได้ออกหมายจับให้      รวมทั้งสิ้น  ๑๓๕ คน  ได้ตัวมาสอบสวนแล้ว ๓๓  คน  ทั้งนี้เฉพาะเจ้าหน้าที่ กกต. ที่เป็นพวก กปปส. จงใจละทิ้งไม่จัดการเลือกตั้งมีจำนวนถึง ๗๔๐ คน

ศรส.จึงได้กำชับให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีดังกล่าวโดยรวดเร็วและรัดกุม เพื่อป้องปรามไม่ให้มีการกระทำความผิดซ้ำอีก โดยเฉพาะการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นในเร็ววันนี้

๕. ศรส.ได้รับรายงานว่า ในคดีการสลายการชุมนุมเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๓ ซึ่งเป็นคดีพิเศษ       ที่ทำการสอบสวนจนเสร็จสิ้น และต่อมาอัยการสูงสุดได้มีคำสั่งฟ้องนายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ กับนายสุเทพ  เทือกสุบรรณ  ซึ่งได้นำตัวนายอภิสิทธิ์ฯ ฟ้องคดีอาญาเป็นจำเลยต่อศาล ในฐานความผิดก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนานั้น  เนื่องจากนายสุเทพฯ ได้ผัดผ่อนขอเลื่อนการเข้าพบพนักงานอัยการหลายครั้งตลอดมา    จนในที่สุดพนักงานอัยการสั่งไม่ให้เลื่อนคดีอีกต่อไป  บัดนี้ พนักงานอัยการได้มีหนังสือแจ้งอธิบดีกรมสอบสวน คดีพิเศษแล้ว ให้ดำเนินการให้ได้ตัวนายสุเทพฯ มาฟ้องโดยเร็ว  ซึ่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษจะได้ยื่นขอหมายจับจากศาลอาญา เพื่อนำตัวนายสุเทพฯ ส่งพนักงานอัยการเพื่อฟ้องคดีดังกล่าวต่อไป

จึงประกาศมาเพื่อทราบทั่วกัน



ผอ.ศรส.เผยรัฐบาลไม่สามารถออกพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งใหม่ได้ เนื่องจากการเลือกตั้งยังไม่เสร็จสิ้น


ผอ.ศรส.เผยรัฐบาลไม่สามารถออกพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งใหม่ได้ เนื่องจากการเลือกตั้งยังไม่เสร็จสิ้น กังวลการเผชิญหน้ากันระหว่างกลุ่ม นปช.และ กปปส. ย้ำเร่งคลี่คลายคดีเหตุระเบิดที่ราชประสงค์ให้เร็วที่สุด

วันนี้ (26 ก.พ.57) เวลา 12.10 น. ที่ศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในฐานะผู้อำนวยการ ศรส. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร แล้วผู้ชุมนุม กปปส. ไม่ยอมให้ตำรวจเข้าไปในพื้นที่ โดยขอถามว่าเพราะอะไร แสดงว่า กปปส. ไม่ไว้วางใจตำรวจ แล้ววันนี้ กปปส. ไปที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ช่วยทำคดี ถือว่าลักลั่น ซึ่งเมื่อก่อนนี้ไม่เอาตำรวจเลย การขัดขวางตำรวจไม่ให้เข้าตรวจที่เกิดเหตุนั้นถือว่าผิดกฎหมาย เพราะเป็นหน้าที่ของตำรวจ แต่วันนี้ผู้ชุมนุมไปหาตำรวจเต็มไปหมด

“ผมก็อยากเป็นรัฐบาลต่อ ก็ไม่อยากให้เกิดความรุนแรง แต่คดีแต่ละคดี ความยากง่ายไม่เหมือนกัน และ กปปส. พอมีคดีเกิดขึ้น ไม่ยอมให้ตำรวจเข้าที่เกิดเหตุ แต่วันนี้คงไม่รู้จะทำอย่างไรแล้ว ไปยื่นหนังสือร้องทุกข์ต่อ ผบ.ตร. ที่ทำนี้ถูกต้องแล้ว ไปหาตำรวจ เขาจะได้ช่วยสืบสวนสอบสวนจับกุม” ผอ.ศรส. กล่าว

ผอ.ศรส. กล่าวว่า ถ้านายสุเทพรู้ว่าตัวเองแพ้ เหตุการณ์ก็จะไม่มีอะไร กรณีเหตุระเบิดที่ราชประสงค์เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมารัฐบาลจะเร่งคลี่คลายคดีให้เร็วที่สุด เพราะเป็นเหตุการณ์สะเทือนใจ ตนก็เป็นคนรักลูกหลาน เด็ก ๆ ไม่เกี่ยวอะไรด้วย ตอนนี้ถ้ารู้ว่าใครทำจะดำเนินการทันที ทั้งนี้ คิดว่ากลุ่มผู้ชุมนุมจะอยู่ไม่ได้ คิดว่านายสุเทพจะจบ เงินหมดเมื่อไรก็จบ แต่ตนไม่รู้ว่าจบเมื่อไรเพราะนายสุเทพมีเงินเยอะ แต่นายสุเทพไม่ชนะ เพราะประชาธิปไตยต้องชนะ ตนไม่ขอพูดว่าใครใหญ่กว่านายสุเทพ เพราะตนเป็น ผอ.ศรส. ถ้าพูดเมื่อไรต้องแตกหัก ขณะนี้ยังไม่ถึงจุดแตกหักที่สังคมรับรู้หมดว่าใครเป็นใคร ที่ไหนอย่างไร ตนต้องเป็นคนสุดท้ายที่พูด

ผู้สื่อข่าวถามถึงแนวคิดของกลุ่ม นปช. ที่ประกาศรวมพลกัน และมีเนื้อหาการปราศรัยของคนเสื้อแดงบางคนที่ระบุถึงการแบ่งแยกประเทศ ผอ.ศรส. กล่าวว่า รัฐไทยเป็นรัฐเดียว แบ่งแยกไม่ได้ แบ่งความคิดได้ มองว่าการพูดเรื่องการแบ่งแยกประเทศ เป็นวาทกรรมไม่มีอะไรรุนแรง เมื่อถามต่อว่า การที่กลุ่ม นปช.จะออกมาเคลื่อนไหวนี้ ห่วงจะมีการเผชิญหน้าหรือไม่ ผอ.ศรส. กล่าวว่า ห่วง ต้องระมัดระวัง ไม่อยากให้เผชิญหน้า แต่ตนไปห้ามไม่ได้ เพราะตนไม่เคยร่วมกับกลุ่มคนเสื้อแดง ภาวนาขอให้มาอยู่กันแถวปริมณฑล

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสนอให้รัฐบาลออก พระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งใหม่ โดย ผอ.ศรส. กล่าวว่า ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากการเลือกตั้งยังไม่เสร็จสิ้น ดังนั้น กกต.จึงมีหน้าที่จัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จต่อไป นายกรัฐมนตรีออกพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้งใหม่นั้นทำไม่ได้

ส่วนที่ถามว่า วันที่ 3 มีนาคมนี้เป็นวันครบกำหนดที่จะต้องมีการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้มีการเลือกประธานสภาฯ ตามกฎหมาย ถ้าถึงกำหนดแล้วยังไม่สามารถเปิดการประชุมสภาฯ ได้จะทำอย่างไรนั้นตนมองว่าไม่จำเป็น เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 93 ระบุไว้ชัดเจนว่า หากมีเหตุการณ์ใดที่ทำให้การเลือกตั้ง ส.ส.ได้ไม่ครบ สามารถดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่ง ส.ส.ได้อีกในระยะเวลา 180 วัน

วันอังคารที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

สรุปผลการประชุม ศรส. เมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗


ศูนย์รักษาความสงบ หรือ ศรส. มีผลการประชุมสมควรแจ้งให้พี่น้องประชาชนทราบ ดังนี้

๑.   ศรส.ได้รับแจ้งจากกรมสอบสวนคดีพิเศษว่า  ตามที่พนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้ใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. ๒๕๔๘ มาตรา ๒๔  โดยขอให้ธนาคารตรวจสอบบัญชีเงินฝากและอายัดบัญชีเงินฝากของแกนนำ กปปส. จำนวน ๓๘ คน ที่เป็นผู้ต้องหาในคดีพิเศษ    และต่อมาศาลแพ่งได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวอนุญาตให้นายเสรี วงษ์มณฑา ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ต้องหา สามารถเบิกถอนเงินจากบัญชีได้  ซึ่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษพิจารณาแล้วเพื่อเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งของศาลแพ่งดังกล่าว จึงได้ดำเนินการเพิกถอนการอายัดบัญชีของนายเสรีฯ และผู้ต้องหารายอื่นทั้ง ๓๘ คน รวมถึงบัญชีเงินฝากที่เกี่ยวข้องอีก ๓ บัญชี  ทั้งนี้ ได้แจ้งให้ธนาคารดำเนินการเพิกถอนการอายัดบัญชีดังกล่าวด้วยแล้ว  อย่างไรก็ตาม แม้จะได้เพิกถอนการอายัดบัญชีเงินฝากของผู้ต้องหาทั้ง ๓๘ คน ดังกล่าวแล้ว  แต่กรมสอบสวนคดีพิเศษก็ยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องตรวจสอบบัญชีเงินฝากของบุคคลทั้ง ๓๘ ราย เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาดำเนินคดีต่อไป

๒.   ตามนโยบายของ ศรส. ร่วมกับส่วนราชการต่าง ๆ ได้เห็นถึงความจำเป็นและความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนจากการปิดกรุงเทพมหานครของ กปปส.  โดยเฉพาะสถานที่ราชการ  ดังนั้น เพื่อให้สถานที่ราชการสามารถกลับมาเปิดให้บริการประชาชนได้ตามเดิม  ศรส. ร่วมกับส่วนราชการจึงได้ดำเนินการเปิดสถานที่ราชการต่าง ๆ ที่ถูกปิดให้เริ่มเปิดทำการได้ถึง ๕๓ แห่งแล้ว  แต่หลังจากที่ศาลแพ่งได้มีคำพิพากษา ส่งผลให้ ศรส.ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญหลักตามกฎหมายได้  และเป็นผลให้ กปปส. ไปบุกรุก ปิดล้อมสถานที่ราชการและขับไล่ข้าราชการไม่ให้ทำงานอีก ข้อมูลจนถึงเช้าวันนี้ กปปส. ได้กลับไปบุกรุกปิดล้อมส่วนราชการและบริษัทเอกชน จำนวน ๑๐ แห่ง ได้แก่ กรมศุลกากร  กระทรวงการต่างประเทศ  กระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง กรมสรรพากร กรมโยธาธิการและผังเมือง  กรมสรรพสามิต  สถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี  บริษัทเอ็มลิ้ง เอเชีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)  และอาคารชินวัตรทาวเวอร์ ๓

ศรส.จึงหวังว่า การยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลแพ่งจะเป็นผลให้ ศรส.สามารถกลับมาปฏิบัติหน้าที่ได้ดังเดิม เพื่อหยุดยั้งมิให้ กปปส. กลับไปปิดสถานที่ราชการได้อีกจำนวนมากเช่นเดิม

๓.   ศรส.ได้รับรายงานจากกองบัญชาการตำรวจนครบาลและตำรวจภูธรภาคถึงความคืบหน้าในการดำเนินคดีกับแกนนำ กปปส. และแนวร่วม กรณีร่วมกันกระทำผิดด้วยการขัดขวางการเลือกตั้ง    ด้วยวิธีการต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพมหานครและในต่างจังหวัดโดยเฉพาะภาคใต้  ซึ่งเป็นความผิดร้ายแรงต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย  เป็นการล่วงละเมิดสิทธิของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยตรงขณะนี้มีจำนวนคดีประเภทขัดขวางการเลือกตั้งทั่วประเทศ จำนวน ๑๘๗ คดี  คดีประเภทเป็นเจ้าหน้าที่ กกต. จงใจละทิ้งหน้าที่ไม่จัดการเลือกตั้ง จำนวน ๑๗๒ คดี  รวมคดีทั้งสิ้น ๓๕๙ คดี และศาลได้ออกหมายจับให้แล้วจำนวน ๑๓๐ คน  ขณะนี้ได้ตัวมาดำเนินคดีแล้วจำนวน ๓๓ คน ส่วนเจ้าหน้าที่ กกต.ที่ถูกดำเนินคดีนั้นมีจำนวนถึง ๕๖๐ คนแล้ว

๔.   จากเหตุการณ์ร้ายแรงที่ปรากฏอย่างต่อเนื่องมาหลังจากที่ศาลแพ่งได้มีคำพิพากษานั้น  ศรส.มีความกังวลใจเป็นอย่างมาก และใคร่ขอร้องกลุ่มผู้ชุมนุมต่าง ๆ ทั้งที่สนับสนุน กปปส. กลุ่มที่คัดค้าน กปปส. กลุ่ม นปช. และกลุ่มอื่น ๆ ได้โปรดอดทน อดกลั้น  อย่าได้ออกมาใช้ความรุนแรง เพราะมีแนวโน้มว่า สถานการณ์จะวิกฤติมากขึ้นเรื่อย ๆ จนอาจนำไปสู่สงครามกลางเมือง  ซึ่งจะเกิดความเสียหายต่อชาติบ้านเมืองเป็นอย่างมาก  และยากแก่การแก้ไขเยียวยาให้กลับคืนสู่สภาพเดิม สำหรับส่วนราชการและหน่วยงานต่าง ๆ นั้น ศรส.ขอได้โปรดปฏิบัติหน้าที่และภารกิจของตนโดยเคร่งครัด เฉพาะอย่างยิ่งการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง

จึงประกาศมาเพื่อทราบทั่วกัน

ผอ.ศรส.เผยได้รับรายงานการจับกุมเจ้าหน้าที่หน่วยซีล ระบุเหตุระเบิดหลายจุด-เหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นมีความเชื่อมโยงกัน


ผอ.ศรส. เผยได้รับรายงานการจับกุมเจ้าหน้าที่หน่วยซีล พร้อมระบุเหตุระเบิดหลายจุดและเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นมีความเชื่อมโยงกัน เชื่อเป็นฝีมือของกลุ่มที่ต้องการสร้างสถานการณ์ให้เกิดความรุนแรงเพื่อให้ทหารออกมาปฏิวัติ

วันนี้ (25 ก.พ.57) เวลา 10.30 น. ที่ศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บก.ปส.) ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในฐานะผู้อำนวยการ ศรส. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีข่าวการจับกุมเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการพิเศษ หรือ หน่วยซีล กองทัพเรือ 5 นาย พร้อมอาวุธปืน 7กระบอก ในโรงแรมแห่งหนึ่งที่จังหวัดระยอง ว่า ได้รับทราบรายงานเรื่องนี้แล้ว แต่ในรายละเอียดนั้นไม่ใช่หน้าที่ของตน เพราะอยู่นอกเขต ศรส. จากรายงานมีการจับกุมชายฉกรรจ์พร้อมอาวุธปืน โดยทางโรงแรมแจ้งมายังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งตนทราบในเชิงลึกแต่ยังไม่ขอเปิดเผยเพราะอาจเกิดการกระทบกระทั่ง  ถ้าพูดไปก็กระทบใจกัน จึงขอตรวจสอบทางลับก่อน ความจริงต้องปรากฏ เพราะความจริงคือความจริง

ผอ.ศรส. กล่าวถึงเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นว่ารู้สึกไม่สบายใจที่เด็กต้องมาเสียชีวิตโดยไม่รู้เรื่องอะไร  ตนขอถามว่าทำไมนายสุเทพต้องตั้งเวทีปราศรัยหลายจุด  เพราะนายสุเทพคิดว่าจะมีตัวช่วย นึกว่าประชาชนนิยม แต่ไม่มีใครนิยมคนอย่างนายสุเทพ เจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิตอีกคนหนึ่งแล้วด้วยอาวุธสงคราม กปปส. บอกว่าชุมนุมสงบ เปิดเผย ปราศจากอาวุธ แต่ตำรวจเสียชีวิตด้วยอาวุธสงคราม หัวใจตำรวจก็ทำด้วยเนื้อ เจ็บปวด โกรธหน่อยก็รื้อป้าย โกรธหน่อยก็เอาเท้าไปลูบป้าย นี่หรือคือประชาธิปไตย นายสุเทพเป็นคนสร้างความปั่นป่วนให้กับบ้านเมือง ฟ้าดินจะลงโทษนายสุเทพกับพวก

“เด็กตาย ผมก็เสียใจ ถึงแม้ไม่ใช่ลูกหลานผม แต่ทำไมนายสุเทพถ้าเสียใจจริงไม่ไปที่วัด วัดอยู่แถวบางขุนนนท์ นางอัญชลีก็ไม่ไป กปปส. ก็ไม่ไป แต่มาจัดวิธีการปลุกระดมที่เวทีปทุมวัน เสียใจเศร้าโศก เอาปี่ไปเป่า เอาคนไปอ่านกลอน มันต้องไปที่วัด วัดที่พ่อแม่เขาร้องไห้ วัดที่พระสวด แต่นี่ดราม่า แสดง” ผอ.ศรส.กล่าว

ผอ.ศรส. กล่าวขอเตือนพี่น้องประชาชนอย่าไปสมคบกับ กปปส. มีการชุมนุมที่ไหน ออกไปขับไล่ข้าราชการทุกวัน เมื่อวานนี้ตนได้ประชุมร่วมกับตำรวจ รู้ว่าวันนี้ตำรวจไม่เคร่งครัดในข้อกฎหมาย ทำอะไรก็ผิดหมด ถ้าเข้าจับนายสุเทพก็ต้องมีการเสียชีวิต ตนก็หวั่นใจว่าตำรวจจะถูกกล่าวหาว่าทำเกินกว่าเหตุ จึงต้องพยายามใช้ความละมุนละม่อม ได้ทำหนังสือถึงปลัดกระทรวงทั้งหมด เมื่อวานนี้ น.ส.จิตภัสร์ กฤดากร บุกไปที่กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงวิทยาศาสตร์ เจ้าหน้าที่ถ่ายรูปบันทึกไปร้องทุกข์ไว้ และจะดำเนินคดีฐานบุกรุกสถานที่ราชการ ถือว่าไม่ใช่ม็อบ แต่เป็นกองโจร นึกจะทำอะไรก็ทำ ตำรวจไปอยู่ใกล้ถ้ารู้ว่าเป็นตำรวจก็ทำร้ายตำรวจ เอะอะก็โยนนายกรัฐมนตรี ตนขอยืนยันว่านายกฯ ไม่อำมหิตเหมือนนายสุเทพ  รวมทั้งตนเป็นคนประนีประนอม เมื่อมีเหตุเกิดขึ้นรัฐบาลก็เสียหาย  ถ้านายสุเทพยังมีพฤติกรรมอย่างนี้ เรียกร้องประชาธิปไตย  แต่อย่าทำลายเศรษฐกิจ ทั้งพูดตบท้ายเวทีปราศรัยเรียกร้องให้ทหารปฏิวัติทุกคืน เป็นประชาธิปไตยพวกไหน

ผู้สื่อข่าวถามว่าเกิดเหตุระเบิดขึ้นหลายครั้งแล้ว แต่ตำรวจยังจับผู้ต้องสงสัยหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ไม่ได้ ผอ.ศรส. กล่าวว่า ผู้ต้องสงสัยมี ข้อสันนิษฐานมี กำลังรวบรวมเรียบเรียงอยู่ ถ้าพยานหลักฐานชัดเจนก็ดำเนินการทันทีไม่ว่าจะเป็นใคร

ผู้สื่อข่ามถามว่า ในสังคมออนไลน์มีการเผยแพร่ว่าหน่วยซีลจะไปตามจับตัวหรือลอบสังหารนายกรัฐมนตรี เรื่องนี้จะทำให้กระทบกับความสงบเรียบร้อยบ้านเมืองหรือไม่อย่างไร ผอ.ศรส. กล่าวว่า ไม่เป็นไร อะไรที่ยังไม่มีหลักฐานก็ไม่พูด แต่เรารู้หมด

ผอ.ศรส. กล่าวด้วยว่า การ์ดทุกเวทีของนายสุเทพมีชายฉกรรจ์พกอาวุธปืนรวม 4 เวทีไม่ต่ำกว่า 500 คน ตำรวจรู้หมดว่าการ์ดมาจากไหน ใช้อาวุธปืนอะไร รายงานให้ตนทราบ ซึ่งได้บอกให้ตำรวจใจเย็นไว้ ถ้าพูดออกไปแล้วเกิดกระทบกันจะก่อให้เกิดความไม่พึงพอใจนำไปสู่ความวุ่นวายในบ้านเมือง  ไม่ใช่ม็อบเรียกร้องประชาธิปไตย แต่เป็นกองโจร

ผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุระเบิดที่เกิดขึ้นหลายจุด ผู้ต้องสงสัยเป็นกลุ่มเดียวกันหรือไม่ ผอ.ศรส. กล่าวว่า หลายกลุ่ม เป็นกลุ่มที่ไม่หวังดีต่อรัฐบาล เร่งให้เกิดการปฏิวัติ  ว่ารัฐบาลคุมสถานการณ์ไม่ได้ แล้วรัฐบาลจะคุมอย่างไร ตำรวจไปใกล้เวทีก็ถูกทำร้าย เป็นบ้านป่าเมืองเถื่อนเพราะนายสุเทพคนเดียว  เมื่อถามต่อว่าผู้ต้องสงสัยที่มีหลายกลุ่มนั้น ทุกกลุ่มมีความเชื่อมโยงกันหรือไม่ มีคนที่อยู่เบื้องหลังเป็นคนเดียวกันหรือไม่ ผอ.ศรส. กล่าวว่า น่าจะใช่ ถ้ามีจังหวะดี ๆ ตนจะจับ ส่วนที่ถามว่ากลุ่มผู้ต้องสงสัยหลายกลุ่มนั้นน่าจะเป็นคนมีสีหรือไม่นั้น  ตนไม่ขอพูด เพราะไม่มั่วเหมือนนายสุเทพที่ไม่รู้อะไรจริงแล้วออกมาพูด

ผู้สื่อข่าวถามว่า ทราบหรือไม่ว่าขณะนี้นายสุเทพนอนพักที่ไหน และได้ย้อนกลับไปพักที่โรงแรมดุสิตธานี หรือ ร.ร.อินเตอร์คอนติเนนตัล หรือไม่ ผอ.ศรส. กล่าวว่า ตอนนี้นอนม็อบเพราะกลัวถูกจับ 2 คืนที่ผ่านมานี้ไม่ได้ไปที่โรงแรม มีย้อนกลับไปที่ 2 โรงแรมดังกล่าวโดยไปกินข้าว นายสุเทพกินอาหารอิตาเลียน ม็อบกินข้าวผัด นายสุเทพนอนโรงแรม ครอบครัวมาเยี่ยม แต่ม็อบนอนกับพื้น ตนอยากขอให้ผู้ชุมนุมกลับบ้าน เมื่อวานนี้มีคนสุราษฎร์ธานีทนไม่ได้ ออกมาเรียกร้องให้เปิดสถานที่ทำงาน ประท้วงอย่างนี้บ้านเมืองเสียหายหมด ตนขอยืนยันว่านายสุเทพทำอะไรก็ไม่มีวันสำเร็จเพราะเป็นคนไม่มีมงคล

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่กลุ่มผู้ชุมนุมจะไปบุกที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ผอ.ศรส. กล่าวว่าคงไม่ได้ไปบุก แต่ไปขอให้ตำรวจช่วยสืบสวนติดตามจับกุมตัวผู้กระทำผิด ซึ่งเป็นเรื่องถูกต้อง ไม่ใช่มานั่งด่าตำรวจ


วันจันทร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ศรส.เตรียมยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลแพ่ง ขอทุเลาข้อบังคับ 9 ข้อสัปดาห์นี้ วอนผู้ชุมนุมทุกกลุ่มอดทนอดกลั้น ห่วงแนวโน้มสถานการณ์วิกฤติมากขึ้น


ศรส.เตรียมยื่นอุธรณ์คำพิพากษาศาลแพ่ง ขอทุเลาข้อบังคับ 9 ข้อภายในสัปดาห์นี้ วอนผู้ชุมนุมทุกกลุ่มอดทนอดกลั้นอย่าใช้ความรุนแรง ระบุแนวโน้มสถานการณ์จะวิกฤติมากขึ้นจนอาจนำสู่สงครามกลางเมือง-คกก.พิจารณาคนเข้าเมืองมีมติเพิกถอนการอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรนายสาธิต เซกัล โดยผอ.ศรส.เตรียมลงนามสั่งเพิกถอน

วันนี้ (24 ก.พ.57) เวลา 13.00 น. ที่ศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ในฐานะกรรมการ ศรส. พร้อมด้วย พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ ผกก.ฝ่ายตำรวจสากลและประสานงานภูมิภาค 1 รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ พ.ต.ท.หญิง อัญชุลี ธีระวงศ์ไพศาล รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงผลการประชุม ศรส. ประจำวัน ซึ่งมี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และ ผอ.ศรส. เป็นประธานการประชุมโดยมีมติที่สำคัญ ดังนี้

1. ตามที่ผู้อำนวยการ ศรส. ได้มีหนังสือถึงพนักงานอัยการเพื่อให้ดำเนินการยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลแพ่งในคดีที่นายถาวร เสนเนียม เป็นโจทก์ ฟ้อง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จำเลยที่ 1 กับพวก โดยให้ข้อบังคับตามประกาศและข้อกำหนดไม่มีผลบังคับต่อโจทก์และประชาชน และห้ามจำเลยกระทำการรวม 9 ข้อ ดังเป็นที่ทราบกันทั่วไปแล้วนั้น พนักงานอัยการที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ได้แจ้งว่า จะได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา พร้อมคำร้องขอให้ศาลอุทธรณ์สั่งทุเลาการบังคับตามคำพิพากษาของศาลแพ่งตามขั้นตอนของกฎหมาย เพื่อยืนยันถึงอำนาจหน้าที่และดุลยพินิจของฝ่ายบริหารในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ โดยจะได้นำเสนอข้อเท็จจริงทั้งหลายทั้งปวงที่แกนนำ กปปส. ได้ร่วมกันกระทำความผิดอย่างต่อเนื่องติดต่อกันตลอดมาจนถึงเหตุการณ์และความเสียหายที่เป็นปัจจุบัน พร้อมพยานเอกสารหลักฐานที่เป็นภาพถ่าย ภาพเคลื่อนไหวต่าง ๆ ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่า ปัจจุบันนี้ กปปส. มิได้ชุมนุมโดยสงบ เปิดเผย และปราศจากอาวุธ รวมถึงที่ศาลอาญาได้ออกหมายจับข้อหากบฏต่อนายสุเทพ เทือกสุบรรณ กับพวกด้วย และเพื่อความรอบคอบและสมบูรณ์ดังกล่าว พนักงานอัยการจะได้ยื่นเรื่องต่อศาลอุทธรณ์ได้ภายในสัปดาห์นี้

อนึ่ง จากเหตุการณ์ร้ายแรงที่ปรากฏอย่างต่อเนื่องมาหลังจากที่ศาลแพ่งได้มีคำพิพากษานั้น ศรส.มีความกังวลใจเป็นอย่างมาก และใคร่ขอร้องกลุ่มผู้ชุมนุมต่าง ๆ ทั้งที่สนับสนุน กปปส. กลุ่มที่คัดค้าน กปปส. กลุ่ม นปช. และกลุ่มอื่น ๆ ได้โปรดอดทน อดกลั้น อย่าได้ออกมาใช้ความรุนแรง เพราะมีแนวโน้มว่า สถานการณ์จะวิกฤติมากขึ้นเรื่อย ๆ จนอาจนำไปสู่สงครามกลางเมือง ซึ่งจะเกิดความเสียหายต่อชาติบ้านเมืองเป็นอย่างมาก และยากแก่การแก้ไขเยียวยาให้กลับคืนสู่สภาพเดิม สำหรับส่วนราชการและหน่วยงานต่าง ๆ นั้น ศรส.ขอได้โปรดปฏิบัติหน้าที่และภารกิจของตนโดยเคร่งครัด เฉพาะอย่างยิ่งการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง อย่างไรก็ตาม ศรส.เองได้ปรับกำลังตำรวจให้ทำหน้าที่ดูแลและเฝ้าระวังเหตุร้ายต่าง ๆ ทั่วกรุงเทพมหานคร โดยเพิ่มอัตรากำลังอีกถึง 2,000 นาย แต่ก็ยังมีข้อจำกัดที่ กปปส. ห้ามไม่ให้ตำรวจเข้าตรวจตราดูแลในบริเวณการชุมนุม ซึ่งตำรวจจะได้พยายามทำหน้าที่ต่อไปให้ดีที่สุด

2. ตามที่ ศรส.เห็นชอบให้ส่งข้อมูลเกี่ยวกับนายสาธิต เซกัล สัญชาติอินเดีย มีพฤติการณ์รับฟังได้ว่า เป็นบุคคลต่างด้าวที่มีเหตุอันควรเชื่อว่าเป็นผู้สนับสนุนการกระทำให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉินตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ เพื่อให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาดำเนินการต่อไปนั้น ขณะนี้คณะกรรมการพิจารณาคนเข้าเมือง ซึ่งเป็นคณะกรรมการตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวแล้วมีมติว่า นายสาธิตฯ มีพฤติการณ์เป็นที่น่าเชื่อว่าเป็นบุคคลที่เป็นภัยต่อสังคม หรือจะก่อเหตุร้ายให้เกิดอันตรายต่อความสงบสุขหรือความปลอดภัยของประชาชนหรือความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร เห็นควรเพิกถอนการอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร ตามมาตรา 53 ประกอบมาตรา 12(7) แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 และจะได้นำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเพื่อสั่งเพิกถอนการอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรของนายสาธิตฯ ต่อไป ซึ่ง ศรส. ได้รับทราบแล้วมีความเห็นว่า ตามมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ประกอบกับคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ พิเศษ 1/2557 เรื่อง การจัดตั้งศูนย์รักษาความสงบ ฉบับลงวันที่ 21 มกราคม 2557 อำนาจหน้าที่การสั่งเพิกถอนฯ ดังกล่าว ได้โอนมาเป็นของผู้อำนวยการ ศรส.แล้ว ศรส.จึงจะได้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป โดยจะให้ผู้อำนวยการ ศรส. ลงนามสั่งเพิกถอนการอนุญาตให้ นายสาธิตฯ มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรตามกฎหมายโดยเร็วต่อไป

3. ศรส.ได้รับรายงานจากกองบัญชาการตำรวจนครบาลและตำรวจภูธรภาคถึงความคืบหน้าในการดำเนินคดีกับแกนนำ กปปส. และแนวร่วม กรณีร่วมกันกระทำผิดด้วยการขัดขวางการเลือกตั้ง ด้วยวิธีการต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพมหานครและในต่างจังหวัดโดยเฉพาะภาคใต้ ซึ่งเป็นความผิดร้ายแรงต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เป็นการล่วงละเมิดสิทธิของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยตรง ขณะนี้มีจำนวนคดีประเภทขัดขวางการเลือกตั้งทั่วประเทศ จำนวน 185 คดี คดีประเภทเป็นเจ้าหน้าที่ กกต. จงใจละทิ้งหน้าที่ไม่จัดการเลือกตั้ง จำนวน 170 คดี รวมคดีทั้งสิ้น 355 คดี และศาลได้ออกหมายจับให้แล้วจำนวน 124 คน ขณะนี้ได้ตัวมาดำเนินคดีแล้วจำนวน 43 คน

4. ตามนโยบายของ ศรส. ร่วมกับส่วนราชการต่าง ๆ ได้เห็นถึงความจำเป็นและความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนจากการปิดกรุงเทพมหานครของ กปปส. โดยเฉพาะสถานที่ราชการ ดังนั้น เพื่อให้สถานที่ราชการสามารถกลับมาเปิดให้บริการประชาชนได้ตามเดิม ศรส. ร่วมกับส่วนราชการจึงได้ดำเนินการเปิดสถานที่ราชการต่าง ๆ ที่ถูกปิดให้เริ่มเปิดทำการได้ ขณะนี้สามารถเปิดได้ถึง 53 แห่งแล้ว แต่หลังจากที่ศาลแพ่งได้มีคำพิพากษา ส่งผลให้ ศรส.ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญหลักตามกฎหมายได้ และเป็นผลให้ กปปส. ไปบุกรุก ปิดล้อมสถานที่ราชการและขับไล่ข้าราชการไม่ให้ทำงานอีก โดยเฉพาะในเช้าวันนี้ กปปส. ได้ไปบุกรุกปิดล้อมส่วนราชการ จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ กรมศุลกากร กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง กรมสรรพากร และบริษัทเอกชน จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ สถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี บริษัทเอ็มลิ้ง เอเชีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

อธิบดีดีเอสไอกล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อเช้าวันนี้ศาลอาญาได้มีคำสั่งไม่อนุมัติหมายจับตามที่ ศรส. ขอให้ออกหมาย ฉ. รวม 13 คน ที่ได้มีการไต่สวนต่อเนื่องมาตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเหตุผลสำคัญคือศาลอาญาเห็นว่าเมื่อศาลแพ่งได้มีคำสั่งแล้ว ผลของคำสั่งศาลแพ่งจึงได้เป็นผลทำให้ศาลอาญาไม่อนุมัติหมายจับ 13 รายที่ ศรส. ขอเพิ่ม และในวันพุธตามที่ กปปส. ได้ยื่นขอเพิกถอนหมาย ฉ. หมายจับ 19 รายที่ศาลอาญาได้ออกให้แล้วนั้น ศรส. ได้เฝ้าติดตามและประเมินว่าศาลอาญาน่าจะเพิกถอน 19 หมายเช่นเดียวกับที่ไม่ออก 13 หมายให้ในวันนี้ ด้วยเหตุผลเดียวจากคำพิพากษาศาลแพ่ง เพราะฉะนั้นผลจากคำพิพากษาศาลแพ่งจึงส่งผลในวงกว้างอย่างมาก ทั้งเรื่องการออกหมาย ฉ. และเรื่องการจับกุมด้วย สำหรับการยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลแพ่ง กับการยื่นขอให้ทุเลาคำสั่งศาลแพ่งจะยื่นภายใน 2-3 วันนี้ โดย ศรส.จะทำอย่างรอบคอบเพื่อให้สถานการณ์เป็นปัจจุบัน ทั้งนี้ สถานการณ์มีแนวโน้มความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากศาลอาญาเพิกถอนหมายจับ 19 หมายที่ออกมาแล้ว ศรส. จะทำอย่างไร อธิบดีดีเอสไอกล่าวว่า ศรส. ต้องรอผลการยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลแพ่ง ถ้าศาลอุทธรณ์ทุเลาการบังคับให้ ศรส. จะนำผลของศาลอุทธรณ์ไปกราบเรียนศาลอาญา จะเห็นได้ว่าคำพิพากษาศาลแพ่งได้ส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมมากในขณะนี้

ผู้สื่อข่าวถามว่า ศรส. ได้มีการประเมินอย่างไรในช่วงเวลานี้ที่มีทั้งเหตุการณ์ความรุนแรงและอยู่ในช่วงที่เป็นสุญญากาศด้วย อธิบดีดีเอสไอกล่าวว่า ศรส. ประเมินแล้ว เราขอร้องให้ทุกฝ่ายทั้งผู้สนับสนุน กปปส. กลุ่ม นปช. ผู้คัดค้าน และกลุ่มอื่นได้อดทนอดกลั้น อย่าออกมาใช้ความรุนแรง เพราะ ศรส. ประเมินว่ามีแนวโน้มสถานการณ์จะวิกฤตขึ้นเรื่อย ๆ จนอาจนำไปสู่สงครามกลางเมือง

ผู้สื่อข่าวถามว่า ได้เตรียมแผนสำรองเรื่อง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.บ.มั่นคงไว้อย่างไร อธิบดีดีเอสไอกล่าวว่า ศรส. ต้องทำตามขั้นตอน สิ่งที่ทำถูกที่สุดคือต้องอุทธรณ์ เพราะถ้า ศรส. ไม่อุทธรณ์แล้วคำพิพากษาศาลแพ่งจะกลายเป็นประวัติศาสตร์ และจะค้างไว้อย่างนี้ เหตุการณ์บ้านเมืองในอนาคตจะเป็นปัญหา เพราะฉะนั้น ศรส. ต้องทำตามระบบที่ควรจะเป็นคือต้องอุทธรณ์เพื่อให้คดีถึงที่สุด ไม่มีทางเลือกอื่น

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีการเนรเทศนายสาธิต เซกัลป์ ที่หลังจาก ผู้อำนวยการ ศรส. ลงนามหนังสือคำสั่งแล้วสามารถเนรเทศนายสาธิตได้ทันทีหรือไม่ อธิบดีดีเอสไอกล่าวว่า ต้องใช้คำว่ามีผลตามกฎหมายให้ออกนอกราชอาณาจักร กระบวนการจะต้องกลับไปที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง หรือ ตม. ที่จะมีกระบวนการแจ้งคำสั่ง เป็นไปตามขั้นตอนของ ตม. แต่คงตอบไม่ได้ว่าจะใช้เวลากี่วัน

CMPO to appeal Civil Court's verdict and submit request to Appeal Court to delay enforcement of the verdict


CMPO has prepared to appeal Civil Court's verdict and submit request to the Appeal Court to delay enforcement of the verdict. It would also ensure fair investigation in all cases.

February 22, 2014, at 1300hrs at Center for Maintaining Peace and Order (CMPO), Narcotics Suppression Bureau, Vibhavadi Rangsit Road, Bangkok, Department of Special Investigation (DSI) chief and CMPO committee Tarit Pengdit, Deputy Spokespersons of Royal Thai Police Headquarters Police Colonel Krishna Pattanacharoen and CMPO Official, Miss Sirima Sunavin announced following outcomes of the CMPO meeting.

1) On the Civil Court’s verdict and enforcement of the case filed by Mr. Thavorn Senniam against defendant no. 1, Ms. Yingluck Shinawatra et al which has resulted in CMPO not being able to implement its tasks in accordance with the legal principles, CMPO Director has today submitted a letter to the prosecutors to appeal against the Civil Court’s verdict and would submit request to the Appeal Court to delay enforcement of the verdict on February 24, 2014. The CMPO Director was certain that CMPO would win the case since the Emergency Decree was announced in the same manner as the one in 2010 against which Mr. Prompong Nopparit filed a case, and was dismissed by the Civil Court.

2) On Civil Court’s reference to the Constitutional Court’s ruling that PDRC protest has been conducted with peacefulness, openness and no arms, thereby, a legitimate protest, CMPO has resolved that the aforementioned ruling of the Constitutional Court was based on the initial stage of the PDRC protest which was conducted against the Amnesty Bill. However, the PDRC did not stop even after the Amnesty Bill was withdrawn, but instead, upgraded its protest to the anti-Government movement with various law-violated activities including attempts to block the general election both in Bangkok and in the Southern provinces. In light of this, on February 25 (Tuesday), CMPO would file a petition to the Constitutional Court for its consideration on the unconstitutional movement of PDRC now.

3) From the previous clash between PDRC protesters and police on February 18, 2014 at the area around Phan Fa Lilat Bridge, which resulted in 5 deaths and 68 injured among both side, CMPO ordered the police to expedite the investigation process and would update the public of the progress.

CMPO would like to emphasize and reaffirm that investigation of the Phan Fa Bridge incident would be straightforwardly conducted by means of forensic sciences. In order for the thorough investigation, it would take a little more time for the results to be publicly announced. At this stage, CMPO would, therefore, like the public to wait for official results of the investigation since it would be legally complete and accurate. CMPO also investigated into the VDO clips and photos that PDRC leaders presented earlier and found that those materials were factually distorted.

ผอ.ศรส.เผยเหตุระเบิดที่เกิดในกทม.-ต่างจังหวัดเป็นการกระทำของกลุ่มที่เคยก่อเหตุในปี 2549


ผอ.ศรส.เผยเหตุระเบิดที่เกิดในพื้นที่กรุงเทพฯ-ต่างจังหวัดเป็นการกระทำของกลุ่มที่เคยก่อเหตุในปี 2549 คาดจะยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลแพ่งได้ภายใน 3 วันนี้ โดยระหว่างนี้จะใช้ประมวลกฎหมายอาญาดูแลสถานการณ์ พร้อมประณาม กปปส. เป็นแก๊งเถื่อน ไม่ใช่เวทีเรียกร้องประชาธิปไตย

วันนี้ (21 ก.พ.57) เวลา 10.40  น. ที่ศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในฐานะผู้อำนวยการ ศรส. ให้สัมภาษณ์กรณีเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ว่า เป็นกระบวนการที่จะล้มล้างรัฐบาล ทั้งนี้ไม่มีรัฐบาลไหนอยากให้เกิดความรุนแรงขึ้นในขณะที่รัฐบาลนั้นบริหารประเทศ ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ยากต่อการควบคุม เวที กปปส. ทุกที่ถ้ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจไปคอยรักษาความสงบเรียบร้อย ถ้าถูกจับได้ตำรวจก็ถูกทำร้าย  ทำให้ตำรวจไม่กล้าเข้าไป ตนได้รับรายงานว่าเมื่อคืนนี้เวลา 02.00 น. มีทหารยศสิบเอก 2 นายสังกัดกองร้อยลาดตระเวนระยะไกล ขับรถไปที่พื้นที่ชุมนุมแจ้งวัฒนะ ก็ถูกการ์ด กปปส. ยิงได้รับบาดเจ็บ 1 นาย ขอถามว่าการ์ดเอาปืนมาจากไหน ซึ่งตนขอประณามพฤติกรรมของ กปปส. ว่าเป็นแก๊งเถื่อนแก๊งอุบาทว์ เรียกร้องประชาธิปไตยแต่ประกาศจับนายกรัฐมนตรีทุกคืน ประกาศบุกอาคารสถานที่ของบุคคลอื่น ไปยึดกระทรวงต่าง ๆ และวันนี้ก็ไปบุกที่สถานีวอยซ์ทีวี  อย่างนี้ไม่ใช่ประชาธิปไตยแต่เป็นอันธพาล

“ผมขอสาปแช่งให้ความหายนะจงเกิดขึ้นกับคนคิดร้ายต่อบ้านเมือง คุณจะเรียกร้องประชาธิปไตย ก็ไปเอาพิมพ์เขียวมาให้ดูว่าเขียนไปถึงไหนแล้ว แต่ละคืนหาเรื่องด่าชาวบ้าน พูดจาหยาบคาย หยาบช้า ผมเกิดมายังไม่เคยได้ยินแก๊งไหนที่พูดจาหยาบช้าเท่ากับเวที กปปส. แล้วไม่มีอะไรเดินหน้า ด่าท่านทักษิณ ด่านายกฯ ด่าผม คุณไม่เคารพตัวนายกฯ ก็เป็นสิทธิ์ แต่ตำแหน่งคุณต้องเคารพบ้าง เพราะเป็นผู้นำประเทศมาจากการเลือกตั้ง ได้รับการโปรดเกล้าฯ แล้ววิธีที่ผมถือว่าเลวร้ายคือไปจัดตั้งเด็ก ๆ ให้ขึ้นมาด่า อย่างนี้ไม่ดี” ผอ.ศรส. กล่าว

ผอ.ศรส. กล่าวว่าได้สอบถามข้อมูลเหตุการณ์ที่ อ.เขาสมิง จ.ตราด  ซึ่งเป็นพื้นที่นอกเขต ศรส. ปรากฏว่ากรณีการยิงอาวุธเอ็ม 79 ตกห่างจากเวทีการชุมนุม 100 กว่าเมตร  ถือเป็นการสร้างสถานการณ์  แต่ด้วยข้อจำกัดต่อหน้าที่ของ ศรส. ก็เข้าไปใกล้ไม่ได้ ทั้งนี้ ถ้าศาลได้อ่านบทวิเคเคราะห์ของหนังสือวอลล์สตรีทไทม์ กับวอลล์สตรีทเจอนอล ศาลจะร้องไห้ เพราะวิจารณ์ศาลแรง อย่างไรก็ตามตนไม่เห็นด้วยและไม่อยากให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นเพราะไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาล ถ้านายสุเทพยังประพฤติตัวอย่างนี้ กปปส. ออกอาละวาดอย่างนี้ ตนก็เชื่อว่าเหตุการณ์อย่างนี้ไม่จบ และขอบอกไปยังหน่วยงานทั้งหลายว่า เรื่องอย่างนี้พวกตนไม่เคยคิด รัฐบาลไม่เคยคิด เพราะถ้าทำไปก็มีแต่เข้าตัว ขอให้นายสุเทพหยุด และที่บอกว่าพวกตนสลายม็อบนั้นเอาส่วนไหนมาพูด  ตนไม่เคยไปม็อบ

ผอ.ศรส. กล่าวว่า ทำไมกลุ่มผู้ชุมนุม กปปส. ไม่ชุมนุมกันอย่างสงบ ตนได้ทำหนังสือถึงศาลรัฐธรรมนูญให้ช่วยอธิบายความของคำว่าการชุมนุมโดยสงบ การที่ผู้ชุมนุมไปปิดวอยซ์ทีวี ไปปิดชินคอร์ป และไม่รู้จะไปที่ไหนอีก พฤติกรรมแบบนี้หรือคือการทำให้บ้านเมืองสงบ ตนรู้เบื้องหลังทั้งหมด วันหนึ่งจะพูดให้ชัด และเหตุการณ์เมื่อคืนนี้ตนก็รู้ตัวละครทั้งหมด โดยมีเพิ่มเติมมาบ้างจากปี 49 คือพวกกระหายอำนาจ ไม่ลงเลือกตั้งเพราะลงก็แพ้ จึงต้องใช้วิธีการอย่างนี้ นายสุเทพเป็นเบี้ยตัวหนึ่ง ที่วันหนึ่งจะเหมือนกับที่หนังสือพิมพ์แคนาดาวิเคราะห์ว่านายสุเทพจะถูกฆาตกรรม ตนในฐานะตำรวจเก่ารู้มากก็มีสิทธิ์โดน ที่นายสุเทพขู่จะมาจับนั้นตนเฉย ๆ นายสุเทพจะเอาอำนาจอะไรมาจับตน เพราะนายสุเทพเป็นผู้ต้องหาคดีกบฏ จะไปตามล่านายกฯ ด้วยอะไร บ้านเมืองขณะนี้ไปกันใหญ่

“ม็อบนายสุเทพวันนี้มีการ์ดไม่ต่ำกว่า 300 คน คนที่มาฟัง จัดตั้ง 90% คนกรุงเทพฯ เหลือน้อย เขาไม่เอาด้วยแบบนี้ มีแต่เรื่องรุนแรง แล้วเป็นประชาธิปไตยหรือ”  ผอ.ศรส. กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่าคนที่สร้างความรุนแรงที่เกิดขึ้นในระยะนี้ทั้งที่ จ.ตราด กับที่ราชประสงค์ เป็นความเคลื่อนไหวของกลุ่มเดิมในปี 2549 หรือไม่ ผอ.ศรส. กล่าวว่า จากที่ได้รับรายงานและตามที่ตนวิเคราะห์ก็เป็นอย่างนั้น พอมีเรื่องรัฐบาลก็เดือดร้อน หมายความว่ารัฐบาลคุมสถานการณ์ไม่ได้ จะให้รัฐบาลคุมอย่างไร ศาลแพ่งก็ออกข้อจำกัด ตำรวจในเครื่องแบบผ่านไปก็ถูกดึงไปชก  เมื่อถามต่อว่ามีนักการเมืองเข้าไปร่วมด้วยหรือไม่ ผอ.ศรส. กล่าวว่า มีทั้งนักการเมืองและพวกที่อยากเป็นนักการเมือง แต่ไม่ขอบอกว่าเป็นทหารหรือไม่เพราะตนไม่ทราบ นายสุเทพบอกอยู่ทุกคืนว่ามือปืนป๊อบคอร์น ชายชุดดำ นายสุเทพต้องเล่นแรงเพราะหวังว่าคดี 99 ศพจะจบ แต่นายสุเทพเข้าใจผิดเพราะคดีนั้นจบไม่ได้

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีคนร้ายยิงอาวุธเอ็ม 79 ไปที่ศาลอาญาและศาลแพ่ง คิดว่าเป็นการสร้างสถานการณ์หรือเป็นการหวังผลเชิงสัญลักษณ์หรือไม่ ผอ.ศรส. กล่าวว่า เขาทำให้คนเกลียดรัฐบาล รัฐบาลจะไปทำทำไม ยิงอีก 100 ลูก ศาลก็ตัดสินไปแล้ว รัฐบาลไม่ทำ รัฐบาลไม่โง่ เขาไปทำให้ศาลเกลียดรัฐบาล ใครผ่านไปก็ยิงได้ คนก็มองว่ารัฐบาลไม่พอใจคำสั่งศาลหรือไม่ โดยตนขอบอกว่าเราไม่มีสิทธิ์ไม่พอใจ แต่เราไม่เห็นด้วยจึงไปอุทธรณ์

ผู้สื่อข่าวถามว่า คิดว่าสถานการณ์จะเพิ่มขึ้นหรือไม่และจะแก้ไขอย่างไร ผอ.ศรส. กล่าวว่า สถานการณ์เพิ่มขึ้น แต่จะแก้ไขอย่างไรนั้นตนไม่มีอำนาจ ตอนนี้ใช้ประมวลกฎหมายอาญาอย่างเดียว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ห่วงการประกาศเคลื่อนไหวใหญ่ของกลุ่ม นปช.ที่ประกาศจะชัตดาวน์องค์กรอิสระ กับการเคลื่อนไหวของ กลุ่ม กปปส. ในขณะนี้ว่าจะทำให้เกิดความรุนแรงขึ้นระหว่างคนสองกลุ่มหรือไม่ ผอ.ศรส. กล่าวว่า ถ้ามีการเผชิญหน้าคิดว่าจะรุนแรง ตนก็ทุกข์ใจ กำลังคิดว่าจะทำอย่างไรเพราะไม่อยากให้เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามตนมีหน้าที่ที่จะต้องดูแล

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะปล่อยให้สถานการณ์อย่างนี้เป็นไปอีกนานเท่าไร ผอ.ศรส. กล่าวว่าจะให้ตนทำอย่างไร ศาลจำกัดอำนาจตนมาแล้ว ม็อบมีเส้น มีเบื้องหลัง ไม่เกรงกลัวใครทั้งนั้น สร้างความเสียหายให้บ้านเมืองเท่าไรนายสุเทพทำหมด

ผู้สื่อข่าวถามว่า ได้มีการประเมินเรื่องจะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือไม่ ผอ.ศรส. กล่าวว่ายังไม่ได้คิด ขณะนี้ขอทุเลาคำสั่งศาลแพ่ง และขออุทธรณ์ก่อน

ผู้สื่อข่าวถามว่ามองกรณีที่ ผบ.ตร. ทำหนังสือชี้แจงเจ้าหน้าที่ตำรวจภายหลังศาลแพ่งมีคำสั่งอย่างไร ผอ.ศรส. กล่าวว่า ผบ.ตร.ทำถูกต้อง ผบ.ตร. ต้องบอกเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าขณะนี้ข้อกำหนดตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินใช้ไม่ได้แล้ว ถ้าตนเป็น ผบ.ตร. ตนก็บอกลูกน้อง เพราะตำรวจเป็นผู้ออกข้อกำหนด ตนเป็น ผอ.ศรส. โดย ผบ.ตร. เป็นคนปฏิบัติการ จะออกข้อกำหนดให้ผู้ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติการ เมื่อศาลแพ่งมีคำสั่ง ผบ.ตร. ก็ต้องบอกลูกน้อง  ตำรวจไม่มีอะไรขัดแย้งกับ ศรส.

ผู้สื่อข่าวถามถึงความเป็นไปได้ในการจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นว่าจะต้องมีกระบวนการอย่างไร ตอนนี้นายกรัฐมนตรีก็ไม่สามารถไปทำงานที่ไหนได้ ผอ.ศรส. กล่าวว่า ตนไม่มีความรู้ในเรื่องนี้  รู้แต่เรื่องลี้ภัย ขออย่าเพิ่งไปไกลขนาดนั้นเลย นายกรัฐมนตรีไม่อยากไปตอแย บอกว่าจะไปจับนายกฯ แล้ว รปภ. จะทำอย่างไร ถ้าจะจับตนแล้ว รปภ. จะยืนสวัสดีหรือ นายสุเทพอย่าไปหาเรื่องเลย แค่นี้ก็ติดคุกตายอยู่แล้ว ตนประเมินสถานการณ์จากนี้ไปว่านายสุเทพแพ้ รัฐบาลชนะ นายสุเทพไปไม่รอด เพราะคนเริ่มเกลียด  หมดเงินเมื่อไรก็จบ ตอนนี้เงินเหลือน้อยแล้ว สุดท้ายนายสุเทพแพ้

ผู้สื่อข่าวถามว่า คิดว่าก่อนที่นายสุเทพจะแพ้ และรัฐบาลจะชนะ จะเกิดเหตุรุนแรงขึ้นอีกหรือไม่ ผอ.ศรส. กล่าวว่า ดูไม่ออก กปปส. ไม่ให้ใครเข้าไปดู คิดว่าเหตุรุนแรงมีอีกแน่นอน แต่ไม่มั่นใจว่าจะเกิดเหตุที่ไหน ใครที่ไม่เกี่ยวข้องอย่าเข้าไปเลย เพราะเวทีนี้ไม่ใช่เวทีเรียกร้องประชาธิปไตยแล้ว แต่เป็นเวทีป่าเถื่อน ถ้ามีเรื่องรุนแรง รัฐบาลเสียหาย ขณะนี้นายสุเทพเดินไม่เป็น มีลูกเดียวคือให้เกิดกลียุคถึงจะมีโอกาสพลิกล็อกกลับมาชนะ ไม่อย่างนั้นชนะยาก

ผู้สื่อข่าวถามว่า ประเมินหรือไม่ว่าหากเกิดเหตุรุนแรงกลียุค ทหารจะออกมา ผอ.ศรส. กล่าวว่า “ผมไม่พูด ไม่ใช่หน้าที่ของผม ผมคิดว่าทุกคนมีสติ ทุกคนเห็นอะไรผิดอะไรถูก ทุกคนคิดเป็น ทุกวันนี้ก็กลียุคอยู่แล้ว กปปส. เป็นต้นเหตุ ไหนว่าชุมนุมสงบ”

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ ผอ.ศรส. ทำหนังสือขอความรู้ขอคำแนะนำไปที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งรวม 7 ข้อนั้นได้รับการตอบรับมาหรือไม่ ผอ.ศรส. กล่าวว่า ท่านไม่ตอบ ก็แล้วแต่ท่าน แค่หนังสือพิมพ์ต่างประเทศวิจารณ์ท่าน ท่านคงมึนแล้ว แต่ประชาชนเข้าใจว่าตนต้องเบาลงเพราะอะไร ก็กลับไปใช้กฎหมายอาญา ซึ่งคิดว่าเพียงพอสำหรับการดูแลสถานการณ์

พร้อมกันนี้ ผอ.ศรส. กล่าวถึงการยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลแพ่งว่า ศรส. จะยังไม่ยื่นอุทธรณ์ในวันนี้ เพราะเอกสารมีมาก โดยจะเร่งรัดการเตรียมเอกสารยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลแพ่งให้เร็วที่สุด คาดว่าใช้เวลาไม่เกิน 3 วัน โดยระหว่างนี้ ศรส. จะใช้ประมวลกฎหมายอาญาดูแลสถานการณ์ ส่วนกรณีที่โฆษกพรรคเพื่อไทย ระบุว่าพลเอก พัลลภ ปิ่นมณี จะเข้ามาเป็นทีมงาน ของ ศรส. นั้นผอ.ศรส.กล่าวว่า ล่าสุด ศรส. ยังไม่มีการปรึกษาในเรื่องดังกล่าว





วันศุกร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

สรุปผลการประชุม ศรส. เมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗


ศูนย์รักษาความสงบ หรือ ศรส. มีผลการประชุมสมควรแจ้งให้พี่น้องประชาชนทราบ ดังนี้

วันนี้ ศรส. ได้รับหมายของศาลแพ่ง แจ้งคำบังคับในคดีที่นายถาวร  เสนเนียม  เป็นโจทก์ ฟ้อง นางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร จำเลยที่ ๑  ร้อยตำรวจเอก เฉลิม อยู่บำรุง จำเลยที่ ๒ และพลตำรวจเอก อดุลย์  แสงสิงแก้ว จำเลยที่ ๓  เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๗๕/๒๕๕๗  คดีหมายเลขแดงที่ ๕๔๔/๒๕๕๗  ซึ่งคำบังคับดังกล่าวเป็นผลให้ ศรส. ต้องปฏิบัติตามทันที  โดยคำบังคับได้ห้ามจำเลยนำเอาประกาศและข้อกำหนดที่ได้ออกตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี  อำเภอลาดหลุมแก้ว  จังหวัดปทุมธานี และอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ มาใช้บังคับ  รวมทั้งห้ามกระทำการอีก ๙ ข้อ ดังเป็นที่ทราบกันทั่วไปแล้วนั้น

ศรส.ขอยืนยันว่า จะได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลแพ่ง รวมทั้งขอให้ศาลอุทธรณ์สั่งทุเลาการบังคับตามคำพิพากษาของศาลแพ่งตามกฎหมายต่อไปด้วย  แต่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ซึ่งจะต้องใช้เวลานานพอสมควรนั้น  ศรส.มีความกังวลใจเป็นอย่างยิ่งที่ ศรส.และเจ้าหน้าที่ของ ศรส.ทุกคนจะไม่สามารถปฏิบัติภารกิจโดยเฉพาะส่วนที่เป็นสาระสำคัญตามที่กฎหมายกำหนดไว้ได้ เพราะคำพิพากษาของศาลแพ่งที่สั่งห้าม ศรส.ทั้ง ๙ ข้อ  ดังที่ทราบกันแล้ว  สภาวะเสมือนสูญญากาศที่ขาดการบังคับใช้กฎหมายเช่นนี้ จึงเป็นความเสี่ยงสูงต่อการที่สังคมจะเพิ่มความขัดแย้งและความไม่สงบสุขมากขึ้นอีก เพราะกลุ่มประชาชนทั้งที่เห็นด้วยกับ กปปส. และที่ไม่เห็นด้วย  ต่างก็มีจำนวนมากมายด้วยกันทั้งคู่  และด้วยความเดือดร้อนของประชาชน  ด้วยการกีดขวางการจราจรตามถนนและสี่แยกต่าง ๆ เพราะ กปปส.สามารถเคลื่อนการชุมนุมไปตามที่ต่าง ๆ ได้โดยเสรีตามใจชอบ จนเกิดภาวะวิกฤติในเมืองหลวงของประเทศ การปิดล้อมสถานที่ราชการ โรงแรม และบริษัทสถานที่ทำการของเอกชน  การขัดขวางการเลือกตั้งซึ่งจะต้องเกิดขึ้นอีกแน่นอน  โดยเฉพาะความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจซึ่งเกิดขึ้นทุก ๆ มิติและ  ทวีความรุนแรงมากขึ้น  จึงอาจเกิดการกระทบกระทั่งและเข้าจัดการกันเองได้ เพราะภาครัฐไม่อาจบังคับใช้กฎหมายได้ ซึ่งจะเป็นสภาวะที่ไม่พึงประสงค์เป็นอย่างยิ่ง

ศรส.มีความวิตกว่า  ผลจากคำพิพากษาของศาลจะทำให้แกนนำ กปปส. สามารถนำเอากลุ่ม ผู้ชุมนุมไปกระทำการใด ๆ โดยเฉพาะการปิดล้อม ปิดกั้น และยึดครองสถานที่ราชการและสถานที่เอกชนต่าง ๆ ได้ตามอำเภอใจ ทั้ง ๆ ที่ ศรส.ได้เข้าดำเนินการแก้ไขปัญหาตลอด ๓๒ วันที่จัดตั้ง ศรส. มาจนสามารถเปิดสถานที่ราชการได้ถึง ๕๓ แห่ง รวมทั้งถนนสาธารณะหลายแห่งแล้ว ดังเช่นเช้าวันนี้ แกนนำ กปปส. ก็ได้นำกลุ่มผู้ชุมนุมไปปิดล้อม ยึดครองกรมพลังงานทดแทน แล้วใช้อาวุธปืนจี้บังคับให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเปิดประตูแล้วบุกเข้าไปยึดครอง  ศรส.ใคร่ขอความร่วมมือนักกฎหมายและนักวิชาการต่าง ๆ ได้กรุณาให้ข้อแนะนำแก่ ศรส. ถึงแนวทางและวิธีการที่ ศรส.จะดำเนินการต่อไปอย่างไร จากการที่ศาลแพ่งได้มีคำพิพากษาดังกล่าวด้วย

อนึ่ง ผู้อำนวยการ ศรส. ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า จะได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลอาญาว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ กับพวก ได้ร่วมกันก่อให้ผู้อื่นใช้วัตถุระเบิดและอาวุธปืนยิงทำร้ายตำรวจ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานขณะปฏิบัติหน้าที่เป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายและบาดเจ็บสาหัสจำนวนมากในการปฏิบัติหน้าที่เมื่อวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์  ณ บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ

ดังนั้น ในระหว่างที่ ศรส. ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ตามคำพิพากษาของศาลแพ่งได้นั้น  นอกจาก ศรส.ขอแสดงความเสียใจต่อพี่น้องประชาชนแล้ว  ศรส.ใคร่ขอวิงวอนพี่น้องประชาชนทั้งที่สนับสนุนกลุ่ม กปปส.  กลุ่มที่ต่อต้าน กปปส. กลุ่ม นปช. และกลุ่มอื่น ๆ ได้โปรดเห็นแก่ความสงบสุขและความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะความเสียหายด้านเศรษฐกิจของประเทศชาติ  ได้กรุณางดเว้นหรือยุติการกระทำใด ๆ ที่จะก่อให้เกิดความวุ่นวายและความเสียหายต่อชาติบ้านเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอย่าได้เข้าเผชิญหน้าหรือเข้าแก้แค้นจัดการกันเอง เพราะจะทำให้ปัญหาของประเทศในขณะนี้เพิ่มความวิกฤติมากขึ้นไปอีก  และยากต่อการแก้ไขเยียวยาเป็นอย่างยิ่ง             

จึงประกาศมาเพื่อทราบทั่วกัน

วันพฤหัสบดีที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ผอ.ศรส.ออกหนังสือด่วนที่สุดถึงอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง ขอทราบแนวทางการปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลแพ่ง


ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ผอ.ศรส. แถลงออกหนังสือด่วนที่สุดถึงอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง เรื่องขอทราบแนวทางการปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลแพ่ง เพื่อหารือแนวทางปฏิบัติของ ศรส.ในข้อเท็จจริงและสถานการณ์ รวม 7 ข้อ

วันนี้ (20 ก.พ.57) เวลา 13.40 น. ที่ศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บก.ปส.) ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในฐานะผู้อำนวยการ ศรส. แถลงกรณีศาลแพ่งมีคำพิพากษาเมื่อวานนี้ให้รัฐบาลโดยศูนย์รักษาความสงบ หรือ ศรส. คงการใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินต่อไปได้ โดยระบุว่า ตามที่ศาลแพ่งได้มีคำพิพากษาเมื่อวานนี้ให้รัฐบาลโดย ศรส. คงการใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินต่อไปได้ แต่ศาลได้มีเงื่อนไขสั่งการไว้ 9 ข้อ ทำให้การปฏิบัติงานของ ศรส. เกิดการชะงักงัน และขาดความเข้าใจของผู้ปฏิบัติหน้าที่ ในฐานะผู้อำนวยการ ศรส. จึงมีหนังสือด่วนที่สุด ที่ ศรส /155 ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2557 ขอหารือแนวทางปฏิบัติจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง เพราะตนในฐานะผู้อำนวยการ ศรส. และเป็นจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ควบคุมและสั่งการการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ทุกกระทรวง กรม ตามที่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้มอบอำนาจให้ โดยขอความรู้จากอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งและคณะผู้พิพากษา 5 ท่านที่เป็นผู้ตัดสินคดีความเมื่อวานนี้ รวม 7 ข้อ เพื่อขอทราบและหารือแนวทางปฏิบัติว่า คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลแพ่งดังกล่าว ศรส. จะต้องพึงปฏิบัติอย่างไร ในข้อเท็จจริงและสถานการณ์ ต่อไปนี้

1. ผู้ชุมนุมทางการเมืองปิดถนน สร้างบังเกอร์รอบทำเนียบรัฐบาล และใช้เป็นที่ซ่องสุมอาวุธเพื่อต่อต้านรัฐบาล กรณีดังกล่าวเข้าข่ายต้องห้ามพนักงานเจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุม ตามนัยคำสั่งของศาลแพ่งหรือไม่ และเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถเข้าจับกุมตัวผู้ต้องหาบางคนที่อยู่ในกลุ่มคนดังกล่าวตามหมายจับของศาลได้หรือไม่

2. กรณีกลุ่มผู้ชุมนุมเข้าบุกยึดพื้นที่กระทรวงมหาดไทย ไล่ข้าราชการไม่ให้เข้าทำงาน มีการขโมยลักทรัพย์อาวุธปืนสงคราม เอ็ม 16 ที่เก็บไว้ในกระทรวงมหาดไทยออกไป และนายถาวร เสนเนียม โจทก์ในคดีนี้ ได้นำกำลังผู้ชุมนุมอีกกลุ่มหนึ่งเข้าไปช่วยปิดล้อมกระทรวงมหาดไทย และมีการยิงปืนเข้าใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรภาค 7 ที่เข้าไปเจรจาขอให้กลุ่มผู้ชุมนุมออกไปจากกระทรวงมหาดไทย กรณีดังกล่าวคำสั่งของศาลแพ่ง ห้ามพนักงานเจ้าหน้าที่ตำรวจกระทำการใดบ้าง หรือให้กระทำการใดได้บ้าง หรือรวมว่ากรณีกระทรวงมหาดไทยเป็นการชุมนุมโดยสงบตามนัยที่ศาลแพ่งสั่งการ

3. กรณีกลุ่มผู้ชุมนุมสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน ปิดถนนสายต่าง ๆ วางสิ่งกีดกั้นทำให้การจราจรติดขัด ถือว่าเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ตามนัยคำสั่ง หรือคำพิพากษาของศาลแพ่งหรือไม่ และจะให้พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือตำรวจดำเนินการอย่างไร จึงจะไม่ฝ่าฝืนคำสั่งของศาลแพ่ง และหรือผู้ชุมนุมปิดถนนหมดทุกสาย ศาลจะให้สั่งการให้เจ้าหน้าที่จราจรทำอย่างไร

4. กรณีมีผู้ชุมนุมกลุ่มหนึ่งประมาณ 300 คน ประกาศว่าจะไปยึดพื้นที่กระทรวงพลังงานคืนจากเจ้าหน้าที่ตำรวจที่รักษาการณ์อยู่ในกระทรวงพลังงาน ศูนย์รักษาความสงบจะต้องปฏิบัติอย่างไรและหากเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ยินยอมให้เข้าไปในตัวอาคารและขัดขวางไม่ให้เข้ามายึดพื้นที่คืน กรณีดังกล่าวจะถือว่าเป็นการสลายการชุมนุมหรือไม่ และเจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร จึงจะสอดคล้องกับคำสั่งห้ามของศาลแพ่ง รวมถึงศาลแพ่งจะนับว่ากลุ่มผู้ชุมนุมเหล่านั้นได้ชุมนุมโดยสงบ เปิดเผย ปราศจากอาวุธ ตามนัยคำสั่งศาลหรือไม่

5. กรณีพระพุทธอิสระ ปิดศูนย์ราชการฯ ถนนแจ้งวัฒนะ ห้ามข้าราชการเข้าไปทำงาน และวางบังเกอร์ปิดถนนโดยรอบ ถือว่าเป็นการชุมนุมตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือไม่

6. กรณี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำกลุ่ม กปปส. กับพวก นำผู้ชุมนุมไปปิดสถานที่ราชการต่าง ๆ เช่น สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เพื่อล่าตัวนายกรัฐมนตรี (ยกเว้นศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร) ข่มขู่ข้าราชการไม่ให้เข้าทำงาน สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่ต้องมาติดต่อราชการ ทั้งยังใช้ถ้อยคำพูดหยาบคาย กรณีเช่นนี้เป็นการชุมนุมโดยสงบและพึงกระทำได้ตามนัยความเห็นของศาลแพ่งหรือไม่อย่างไร

7. วันนี้ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประกาศนำผู้ชุมนุมไปบุกสถานที่ราชการ ศูนย์รักษาความสงบ และบริษัทเอกชน ถือว่าเป็นการใช้สิทธิ์โดยชอบตามกฎหมายหรือไม่เพียงใด และศูนย์รักษาความสงบจะต้องปฏิบัติอย่างไร จึงจะไม่เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของศาลแพ่ง

“หลายครั้งหลายหนที่กลุ่มผู้ชุมนุมที่ศาลแพ่งคุ้มครอง ได้ไปยึดสถานที่ราชการ ได้ทำร้ายข้าราชการ ได้ไล่ข้าราชการออกจากที่ทำงาน พวกผมซึ่งเป็นคนไทยคนหนึ่ง ไม่ใช่ในฐานะ ผอ.ศรส. ได้ไปกอบกู้ให้หน่วยงานได้เปิดทำงานได้แล้ว ศาลแพ่งมีคำสั่งเมื่อวานนี้ ถ้ากลุ่ม กปปส. นำกำลังคนเข้าไปยึดคืนเหมือนในอดีตที่ผ่านมา แล้วไปปราศรัยหน้ากระทรวงเรียกร้องประชาธิปไตย ท่านอธิบดีฯ และคณะที่สั่งคดี จะยอมรับไหมว่านั่นเป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ซึ่งเจ้าหน้าที่เข้าไปเกี่ยวข้องไม่ได้” ผอ.ศรส. กล่าว

พร้อมกันนี้ ผอ.ศรส. กล่าวว่า ในฐานะที่ตนเคยเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มีความรักและเคารพสถาบันตุลาการเป็นอย่างยิ่ง แต่ไม่เข้าใจว่าเมื่อศาลแพ่งได้มีคำสั่ง 9 ข้อเมื่อวานนี้ ตนจะทำสิ่งที่ได้กล่าวมาแล้วได้หรือไม่ เพราะหากสั่งการไป เจ้าหน้าที่ตำรวจจะผิด โดยขอยกตัวอย่างว่า ถ้าพรุ่งนี้นายสุเทพปิดทุกด่าน ปิดทุกแยกเพราะคำสั่งศาลเหมือนกับว่าทำได้ ตนต้องขอความรู้เพื่อจะได้นำไปปฏิบัติ และจะรู้คนเดียวไม่ได้ เพราะประเทศไทยเป็นของประชาชนคนไทยทั้ง 67 ล้านคน รู้อะไรต้องรู้เท่ากัน โดยหากศาลแพ่งตอบกลับมา ตนจะได้นำคำแนะนำของศาลมาสั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งระหว่างนี้พระพุทธะอิสระได้นำมวลชนไปที่โรงแรมเอสซีปาร์ค จะถือว่าเป็นการชุมนุมโดยสงบหรือไม่ รวมทั้งกลุ่ม กปปส. ได้ไปบุกที่อาคารชินวัตร 1-3 มีการปราศรัยโดยไม่ได้พูดถึงเรื่องการปฏิรูปการเมือง ซึ่งศาลจะนับว่าเป็นการชุมนุมโดยสงบ เปิดเผยหรือไม่

“กาลเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ และพวกผม ตัวผม ท่านนายกฯ ถึงแม้ศาลไม่สั่งห้าม เรื่องสลายการชุมนุมพวกผมไม่เคยสั่ง ศรส.ไม่เคยไปที่เวทีการชุมนุมแม้แต่ครั้งเดียวทั้ง 8 เวที และเหตุที่เกิดเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ไม่ใช่ ศรส.สลายการชุมนุม แต่ผู้ชุมนุมมาสลายตำรวจที่ถนนราชดำเนิน” ผอ.ศรส.กล่าว

โดยระหว่างการแถลงข่าว ผอ.ศรส. ได้มอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของ ศรส. ไปยื่นหนังสือด่วนที่สุด ที่ ศรส /115 เรื่อง ขอทราบแนวทางการปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลแพ่ง ต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง แล้ว

ศรส.แถลงการณ์ยืนยันมุ่งมั่นทำหน้าที่ต่อไป แม้คำพิพากษาศาลแพ่งเป็นผลให้ ศรส.มีข้อจำกัดมากในการปฏิบัติหน้าที่ โดยจะยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาเร็วที่สุด

ศรส.แถลงการณ์ระบุจะยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลแพ่งตามกฎหมาย ระบุข้อกังวลใจที่จะไม่สามารถปฏิบัติภารกิจตามที่กฎหมายกำหนดได้ เพราะคำพิพากษาศาลแพ่งที่สั่งห้าม ศรส. 9 ข้อ ระบุเสมือนสภาวะสุญญากาศที่ขาดการบังคับใช้กฎหมาย มีความเสี่ยงสูงที่จะเพิ่มความขัดแย้ง-ไม่สงบสุขมากขึ้นในสังคม พร้อมยืนยัน ศรส.มุ่งมั่นทำหน้าที่ต่อแม้คำพิพากษาเป็นผลให้มีข้อจำกัดอย่างมากในการปฏิบัติหน้าที่ ย้ำยื่นอุทธรณ์โดยเร็วที่สุด



วันนี้ (20 ก.พ.57) เวลา 13.00 น. ที่ศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานที่ปรึกษา ศรส. พร้อมด้วย นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ในฐานะกรรมการ ศรส. แถลงการณ์ศูนย์รักษาความสงบ ตามมติการประชุม ศรส. ประจำวัน ซึ่งมี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และ ผอ.ศรส. เป็นประธานการประชุม ดังนี้

ตามที่ได้มีกลุ่มบุคคลดำเนินการในลักษณะที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายและนำไปสู่ความไม่สงบเรียบร้อยภายในประเทศ จนกระทั่งรัฐบาลได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี และอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ลงวันที่ 21 มกราคม 2557 และได้มีการจัดตั้งศูนย์รักษาความสงบเพื่อดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้เป็นไปอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพแล้วนั้น ที่ประชุมศูนย์รักษาความสงบ หรือ ศรส. วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2557 เห็นสมควรมีแถลงการณ์ถึงพี่น้องประชาชนดังต่อไปนี้

ศรส. ได้รับทราบคำพิพากษาของศาลแพ่งที่ได้นั่งพิจารณาและอ่านคำพิพากษาให้คู่ความฟังแล้ว ศรส. ขอเรียนพี่น้องประชาชนว่า การที่รัฐบาลได้ใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย คือ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ นั้น ก็เพื่อจัดให้มีหน่วยงานในลักษณะพิเศษ คือ ศรส. เข้ามาทำหน้าที่แก้ไขปัญหาของบ้านเมืองในภาวะไม่ปกติและเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ให้สามารถคลี่คลายนำความสงบสุขกลับสู่ประเทศชาติได้ดังเดิมโดยเร็วที่สุด

ศรส.จึงไม่ใช่ศัตรูหรือคู่ขัดแย้งกับ กปปส. แต่ ศรส. มีหน้าที่รักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตย และโดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและเป็นธรรมเพื่อนำสังคมและประเทศชาติกลับสู่ความสงบสุขโดยเร็ว ซึ่งนับแต่รัฐบาลได้ประกาศจัดตั้ง ศรส. เป็นต้นมาถึงวันนี้รวม 31 วัน ศรส.โดยเจ้าหน้าที่ทุกคน ก็ได้มุ่งมั่นปฏิบัติภารกิจตามอำนาจหน้าที่อย่างเต็มที่ อาทิ สามารถดำเนินการให้สถานที่ราชการกลับมาเปิดทำการเพื่อให้บริการประชาชนได้ถึง 53 แห่งแล้วจากการที่ กปปส. ได้ดำเนินการปิดกรุงเทพมหานคร และสถานที่ราชการทุกแห่งไว้ อีกทั้งสามารถดำเนินคดีที่ กปปส. ขัดขวางการเลือกตั้ง ได้ถึง 332 คดี และศาลออกหมายจับให้แล้ว 118 คน ได้ตัวมาดำเนินคดีแล้ว 35 คน นอกจากนี้ยังดำเนินคดีกับแกนนำ กปปส. ได้ 58 คน ในข้อหาหลักตามประมวลกฎหมายอาญา คือ 1) ร่วมกันกระทำการเป็นกบฏตามมาตรา 113 และมาตรา 114 2) ร่วมกันยุยงส่งเสริมให้ประชาชนล่วงละเมิดต่อกฎหมาย ตามมาตรา 116 และ 3) ร่วมกันมั่วสุมให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ตามมาตรา 215 รวมทั้งศาลได้ออกหมายจับ ประเภทหมาย ฉ. ให้แล้ว 19 คน กับที่ศาลนัดฟังคำสั่งในวันจันทร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2557 อีกจำนวนหนึ่ง ตลอดจนได้บริหารจัดการเรื่องที่มีความสำคัญต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่องจนถึงวันนี้

เจ้าหน้าที่ของ ศรส.ทุกคนล้วนมีหน้าที่ต้องปฏิบัติเพื่อให้ภารกิจลุล่วง และหากผู้ใดกระทำการเกินอำนาจหน้าที่หรือผิดกฎหมายก็จะต้องมีความรับผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญาในฐานะเป็น เจ้าพนักงานตามกฎหมาย

ด้วยความเคารพต่อคำพิพากษาของศาลแพ่ง แต่เห็นแตกต่างในข้อกฎหมาย ศรส.จึงรู้สึกกังวลใจแทนพี่น้องประชาชนเป็นอย่างยิ่ง เพราะ ศรส.ได้ถูกสั่งโดยคำพิพากษาให้ยุติภารกิจอันเป็นอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย โดยการจำกัดหน้าที่อันจำเป็นที่จะต้องกระทำเป็นอย่างมากมาย โดยเฉพาะข้อห้ามกระทำการถึง 9 ข้อ ซึ่งล้วนเป็นสาระสำคัญที่ ศรส. จะต้องใช้เพื่อแก้ไขปัญหาของความไม่สงบในขณะนี้ และนับจากวันนี้เป็นต้นไป ศรส. ก็จะไม่สามารถปฏิบัติภารกิจได้หลายเรื่องจนอาจเกิดความเสียหาย อาทิ การแก้ไขปัญหามิให้ กปปส. ออกมาขัดขวางการเลือกตั้งซึ่งกำลังจะมาถึงในเร็ววัน การเข้าปิดล้อม ปิดสถานที่ราชการให้กลับไปปิดการให้บริการประชาชนอีก และการกระทำของ กปปส. ต่าง ๆ นานา ซึ่งสังคมและพี่น้องประชาชนก็พบเห็นอยู่แล้วว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และมีแต่จะสร้างความเสียหายต่อบ้านเมืองมากขึ้นอยู่ตลอดเวลา

กรณีที่ศาลแพ่งอ้างผลของคำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญที่เคยวินิจฉัยไว้ว่า การชุมนุมของ กปปส. เป็นไปโดยสงบ เปิดเผย และปราศจากอาวุธ จึงเป็นการชุมนุมโดยชอบนั้น ศรส.เห็นว่า การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเช่นนั้น เป็นข้อเท็จจริงในการชุมนุมช่วงแรกของ กปปส. แต่ครั้นต่อมาเมื่อเงื่อนไขของการชุมนุมคือการต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรมได้จบสิ้นไปแล้ว กปปส. ก็มิได้เลิกการชุมนุม กลับยกระดับเป็นการชุมนุมขับไล่รัฐบาล มีการปลุกระดม เชิญชวน ทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาและการสื่อสารด้วยวิธีการต่าง ๆ อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายของรัฐบาลและกฎหมาย เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่ทำให้เกิดความไม่สงบขึ้นในหลายพื้นที่และให้มีการล่วงละเมิดต่อกฎหมายแผ่นดิน มีการประกาศจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาล จัดตั้งสภาประชาชนโดยไม่มีกฎหมายรองรับ จัดตั้งกองกำลังอาสาสมัครรักษาการแทนตำรวจขึ้นเป็นการเฉพาะ บุกรุกและปิดยึดสถานที่ราชการ ขับไล่ข้าราชการให้เลิกปฏิบัติหน้าที่ การสั่งให้หยุดงาน การสั่งให้หยุดการเสียภาษี ตัดน้ำตัดไฟสถานที่ราชการ ตั้งกองกำลังไล่ล่านายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี เพิ่มเวทีการชุมนุมมากขึ้น ปิดการจราจรในถนนสำคัญ ๆ จนถึงประกาศปิดกรุงเทพมหานคร รวมถึงกระทำผิดกฎหมายอย่างร้ายแรงด้วยการขัดขวางการเลือกตั้งทั้งในกรุงเทพมหานครและหลายจังหวัดในภาคใต้ เป็นต้น

ดังนั้น การกระทำของ กปปส. แม้จะชอบด้วยกฎหมายในช่วงแรก แต่หากต่อมาเป็นไปโดยผิดกฎหมายก็จะต้องพิจารณาแยกส่วนกัน มิใช่ว่าจะกระทำใด ๆ ก็ได้ตามอำเภอใจก็จะกลายเป็นชอบไปหมดทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้ ศาลอาญาจึงได้ออกหมายจับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ พร้อมแกนนำอีกหลายคนในข้อหาเป็นกบฏ โดยศาลอาญาก็วินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงเป็นคนละกรณีกับที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

ศรส.ขอยืนยันว่า จะได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลแพ่งตามกฎหมายต่อไป แต่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ซึ่งจะต้องใช้เวลานานพอสมควรนั้น ศรส.มีความกังวลใจเป็นอย่างยิ่งที่ ศรส.และเจ้าหน้าที่ของ ศรส.ทุกคนจะไม่สามารถปฏิบัติภารกิจโดยเฉพาะส่วนที่เป็นสาระสำคัญตามที่กฎหมายกำหนดไว้ได้ เพราะคำพิพากษาของศาลแพ่งที่สั่งห้าม ศรส.ทั้ง 9 ข้อ ดังที่ทราบกันแล้ว สภาวะเสมือนสูญญากาศที่ขาดการบังคับใช้กฎหมายเช่นนี้ จึงเป็นความเสี่ยงสูงต่อการที่สังคมจะเพิ่มความขัดแย้งและความไม่สงบสุขมากขึ้นอีก เพราะกลุ่มประชาชนทั้งที่เห็นด้วยกับ กปปส. และที่ไม่เห็นด้วย ต่างก็มีจำนวนมากมายด้วยกันทั้งคู่ และด้วยความเดือดร้อนของประชาชน ด้วยการกีดขวางการจราจรตามถนนและสี่แยกต่าง ๆ เพราะ กปปส.สามารถเคลื่อนการชุมนุมไปตามสถานที่ต่าง ๆ ได้โดยเสรีตามใจชอบ จนเกิดภาวะวิกฤติในเมืองหลวงของประเทศ การปิดล้อมสถานที่ราชการ การขัดขวางการเลือกตั้งซึ่งจะต้องเกิดขึ้นอีกแน่นอน โดยเฉพาะความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจซึ่งเกิดขึ้นทุก ๆ มิติและทวีความรุนแรงมากขึ้น จึงอาจเกิดการกระทบกระทั่งและเข้าจัดการกันเองได้ เพราะภาครัฐไม่อาจบังคับใช้กฎหมายได้ ซึ่งจะเป็นสภาวะที่ไม่พึงประสงค์เป็นอย่างยิ่ง

ศรส.จึงแสดงความเสียใจต่อพี่น้องประชาชนที่ ศรส. ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ตามความคาดหวังของพี่น้องประชาชนได้ เนื่องจากศาลแพ่งมีคำสั่งดังกล่าว จึงแถลงมาเพื่อทราบทั่วกัน

ทั้งนี้ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล กล่าวเพิ่มเติมว่า ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งทำหน้าที่ประธานที่ปรึกษา ศรส. ขอยืนยันต่อพี่น้องประชาชนว่า แม้คำพิพากษาของศาลแพ่งจะเป็นผลให้ ศรส. มีข้อจำกัดอย่างมากมายในการปฏิบัติหน้าที่ แต่ ศรส. ก็ยังมุ่งมั่นจะทำหน้าที่ต่อไป โดยเฉพาะการยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลแพ่งโดยเร็วที่สุด