วันศุกร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ศรส. แถลง ผลการเข้าดำเนินการบริเวณทำเนียบรัฐบาลเป็นไปด้วยความเรียบร้อย พร้อมแสดงความขอบคุณพี่น้องประชาชนที่ได้ให้ความร่วมมืองดการเข้าร่วมชุมนุม และการสนับสนุนทางด้านการเงิน


วันนี้ (14 กุมภาพันธ์ 2557) เวลา 13.30 น. ณ ศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ในฐานะกรรมการ ศรส. พร้อมด้วย พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ ผกก.ฝ่ายตำรวจสากลและประสานงานภูมิภาค 1 รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงผลการประชุม ศรส. ประจำวัน ซึ่งมี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และ ผอ.ศรส. เป็นประธานการประชุม โดยมีมติที่สำคัญ ดังนี้

1. ศรส. ขอแจ้งพี่น้องประชาชนว่า ข้อมูลจากการตรวจสอบของหน่วยงานด้านการข่าวปรากฏมียอดผู้ชุมนุมของ กปปส. สูงสุดเมื่อคืนวานนี้ ช่วงเวลาประมาณ 20.00 นาฬิกา ที่ประมาณ 5,000 คน ซึ่งได้ลดน้อยลงเป็นลำดับอย่างต่อเนื่องทุกวัน ศรส. ขอขอบคุณพี่น้องประชาชนที่ได้ให้ความร่วมมืองดการเข้าร่วมชุมนุม การสนับสนุนด้านการเงิน และการช่วยเหลือต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้การดำเนินการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ที่ไม่สงบขณะนี้ยุติไปได้ในที่สุด

2. เช้าวันนี้ เจ้าหน้าที่ของ ศรส.ได้เข้าทำการสนธิกำลังเพื่อเข้าไปจับกุมแกนนำ กปปส. ที่ศาลได้อนุมัติหมายจับแล้วหลบซ่อนอยู่ตามที่ชุมนุมต่าง ๆ รวมถึงการ์ดของแกนนำที่อยู่ห้อมล้อม ซึ่งอาจขัดขวางการเข้าจับกุม ก็จะเป็นความผิดซึ่งหน้าที่เจ้าพนักงานสามารถจับกุมได้ทันที ผลการเข้าดำเนินการบริเวณทำเนียบรัฐบาลเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ปรากฏกลุ่มผู้ต้องหาและการ์ดได้พากันหลบหนี ละทิ้งพื้นที่ที่ได้ยึดถือไว้ เจ้าหน้าที่จึงเข้าตรวจสอบพื้นที่ พบสิ่งผิดกฎหมายได้แก่ อาวุธยาเสพติด และอุปกรณ์การประกอบระเบิดจำนวนมาก ที่แกนนำ กปปส. และการ์ดได้ทิ้งไว้

3. เมื่อวานนี้ จากผลการตั้งด่านตรวจ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมตัวการ์ด กปปส. ได้ 1 คน คือ นายไตรฉัตร จันทร์ทองสุข ได้อำพรางตัวโดยแต่งกายชุดตำรวจปฏิบัติการพิเศษ และพกพาอาวุธร้ายแรง ได้แก่ อาวุธปืน 2 กระบอก พร้อมกระสุนปืน จึงได้ควบคุมตัวไว้ดำเนินคดีต่อไป ศรส. ขอเรียนว่าการที่แกนนำ กปสส. จัดให้การ์ดแต่งกายเป็นตำรวจแล้วพกพาอาวุธร้ายแรงเช่นนี้ จะก่อให้เกิดปัญหาแทรกซ้อนในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะจะเกิดความเข้าใจผิดของประชาชนและผู้เข้าชุมนุมที่อาจถูกทำร้ายแล้วเข้าใจผิดเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้กระทำ ซึ่งจะยิ่งเพิ่มความเกลียดชังและปัญหาความขัดแย้งมากขึ้นไปอีก

4. กรณีนายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม ผู้ต้องหา ซึ่งเป็นหนึ่งในแกนนำ กปปส. ที่ศาลได้ออกหมายจับประเภทหมาย ฉ. ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ จะครบกำหนดควบคุมตัว 7 วัน ในวันอาทิตย์นี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้นำตัวไปขออนุญาตศาลควบคุมตัวต่ออีก ๗ วัน ซึ่งศาลเห็นว่า ไม่มีความจำเป็นต้องควบคุมตัวแล้วจึงให้ปล่อยตัวนั้น ศรส.ได้รับแจ้งว่า นายสนธิญาณ ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีร้ายแรงคือ ข้อหาร่วมกันเป็นกบฏ ร่วมกันก่อความไม่สงบในบ้านเมือง และร่วมกันยุยงส่งเสริมให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมาย ซึ่งเป็นคดีพิเศษที่เจ้าพนักงาน ๓ ฝ่ายร่วมกันสอบสวน คือ ตำรวจ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ และพนักงานอัยการ ได้มีมติแล้วให้แจ้งข้อกล่าวหาดังกล่าวแก่นายสนธิญาณ และในวันเสาร์ที่ 15 กุมภาพันธ์นี้ จะได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอออกหมายขังมีกำหนดครั้งละ 12 วัน ไม่เกิน 7 ครั้ง หรือ 84 วัน ซึ่งเป็นการดำเนินการตามกฎหมายปกติ คือ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยจะได้ขอศาลคัดค้านการประกันตัว เพราะเป็นคดีอุกฉกรรจ์โทษสูงสุดถึงประหารชีวิต และหากปล่อยตัวไปก็เชื่อว่าจะไปกระทำผิดซ้ำอีก ศรส.ขอยืนยันว่าการปฏิบัติตามที่กล่าวมานี้ เป็นขั้นตอนปกติตามกฎหมายซึ่งไม่อาจปฏิบัติเป็นอื่นได้ และไม่มีการกลั่นแกล้งแต่อย่างใด

5. ศรส.ได้รับรายงานจากกองบัญชาการตำรวจนครบาลและตำรวจภูธรภาคถึงความคืบหน้าในการดำเนินคดีกับแกนนำ กปปส. และแนวร่วม กรณีร่วมกันกระทำผิดด้วยการขัดขวางการเลือกตั้งด้วยวิธีการต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพมหานครและในต่างจังหวัดโดยเฉพาะภาคใต้ ซึ่งเป็นความผิดร้ายแรงต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เป็นการล่วงละเมิดสิทธิของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยตรง ขณะนี้ มีจำนวนคดีประเภทขัดขวางการเลือกตั้งทั่วประเทศ จำนวน 156 คดี คดีประเภทเป็นเจ้าหน้าที่ กกต. จงใจละทิ้งหน้าที่ไม่จัดการเลือกตั้ง จำนวน 165 คดี รวมคดีทั้งสิ้น 321 คดี และศาลได้ออกหมายจับ ให้แล้วจำนวน 59 คน

6. ศรส.ได้รับรายงานว่า เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2557 อันเป็นวันครบกำหนดที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส. ซึ่งอัยการสูงสุดได้มีคำสั่งฟ้องในความผิดฐานร่วมกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล หรือที่เรียกกันว่า คดี 98 ศพ เมื่อเหตุการณ์สลายการชุมนุมในปี พ.ศ. 2553 นั้น พนักงานอัยการได้นำตัวนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ฟ้องคดีเป็นจำเลยต่อศาลไปแล้ว แต่นายสุเทพ ไม่ยอมไปศาล และขอเลื่อนนัดพนักงานอัยการเรื่อยมาถึง 4 นัดแล้ว ดังนั้น พนักงานอัยการจึงไม่อนุญาตให้เลื่อนนัดอีกต่อไป โดยอธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษจะได้แจ้งให้กรมสอบสวนคดีพิเศษไปดำเนินการนำตัวนายสุเทพ มาเพื่อส่งตัวต่อศาลและฟ้องคดีเป็นจำเลย ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษจะได้เร่งรีบดำเนินการให้ได้ตัวนายสุเทพ โดยเร็วต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น