วันจันทร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ศรส.เตรียมยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลแพ่ง ขอทุเลาข้อบังคับ 9 ข้อสัปดาห์นี้ วอนผู้ชุมนุมทุกกลุ่มอดทนอดกลั้น ห่วงแนวโน้มสถานการณ์วิกฤติมากขึ้น


ศรส.เตรียมยื่นอุธรณ์คำพิพากษาศาลแพ่ง ขอทุเลาข้อบังคับ 9 ข้อภายในสัปดาห์นี้ วอนผู้ชุมนุมทุกกลุ่มอดทนอดกลั้นอย่าใช้ความรุนแรง ระบุแนวโน้มสถานการณ์จะวิกฤติมากขึ้นจนอาจนำสู่สงครามกลางเมือง-คกก.พิจารณาคนเข้าเมืองมีมติเพิกถอนการอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรนายสาธิต เซกัล โดยผอ.ศรส.เตรียมลงนามสั่งเพิกถอน

วันนี้ (24 ก.พ.57) เวลา 13.00 น. ที่ศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ในฐานะกรรมการ ศรส. พร้อมด้วย พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ ผกก.ฝ่ายตำรวจสากลและประสานงานภูมิภาค 1 รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ พ.ต.ท.หญิง อัญชุลี ธีระวงศ์ไพศาล รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงผลการประชุม ศรส. ประจำวัน ซึ่งมี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และ ผอ.ศรส. เป็นประธานการประชุมโดยมีมติที่สำคัญ ดังนี้

1. ตามที่ผู้อำนวยการ ศรส. ได้มีหนังสือถึงพนักงานอัยการเพื่อให้ดำเนินการยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลแพ่งในคดีที่นายถาวร เสนเนียม เป็นโจทก์ ฟ้อง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จำเลยที่ 1 กับพวก โดยให้ข้อบังคับตามประกาศและข้อกำหนดไม่มีผลบังคับต่อโจทก์และประชาชน และห้ามจำเลยกระทำการรวม 9 ข้อ ดังเป็นที่ทราบกันทั่วไปแล้วนั้น พนักงานอัยการที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ได้แจ้งว่า จะได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา พร้อมคำร้องขอให้ศาลอุทธรณ์สั่งทุเลาการบังคับตามคำพิพากษาของศาลแพ่งตามขั้นตอนของกฎหมาย เพื่อยืนยันถึงอำนาจหน้าที่และดุลยพินิจของฝ่ายบริหารในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ โดยจะได้นำเสนอข้อเท็จจริงทั้งหลายทั้งปวงที่แกนนำ กปปส. ได้ร่วมกันกระทำความผิดอย่างต่อเนื่องติดต่อกันตลอดมาจนถึงเหตุการณ์และความเสียหายที่เป็นปัจจุบัน พร้อมพยานเอกสารหลักฐานที่เป็นภาพถ่าย ภาพเคลื่อนไหวต่าง ๆ ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่า ปัจจุบันนี้ กปปส. มิได้ชุมนุมโดยสงบ เปิดเผย และปราศจากอาวุธ รวมถึงที่ศาลอาญาได้ออกหมายจับข้อหากบฏต่อนายสุเทพ เทือกสุบรรณ กับพวกด้วย และเพื่อความรอบคอบและสมบูรณ์ดังกล่าว พนักงานอัยการจะได้ยื่นเรื่องต่อศาลอุทธรณ์ได้ภายในสัปดาห์นี้

อนึ่ง จากเหตุการณ์ร้ายแรงที่ปรากฏอย่างต่อเนื่องมาหลังจากที่ศาลแพ่งได้มีคำพิพากษานั้น ศรส.มีความกังวลใจเป็นอย่างมาก และใคร่ขอร้องกลุ่มผู้ชุมนุมต่าง ๆ ทั้งที่สนับสนุน กปปส. กลุ่มที่คัดค้าน กปปส. กลุ่ม นปช. และกลุ่มอื่น ๆ ได้โปรดอดทน อดกลั้น อย่าได้ออกมาใช้ความรุนแรง เพราะมีแนวโน้มว่า สถานการณ์จะวิกฤติมากขึ้นเรื่อย ๆ จนอาจนำไปสู่สงครามกลางเมือง ซึ่งจะเกิดความเสียหายต่อชาติบ้านเมืองเป็นอย่างมาก และยากแก่การแก้ไขเยียวยาให้กลับคืนสู่สภาพเดิม สำหรับส่วนราชการและหน่วยงานต่าง ๆ นั้น ศรส.ขอได้โปรดปฏิบัติหน้าที่และภารกิจของตนโดยเคร่งครัด เฉพาะอย่างยิ่งการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง อย่างไรก็ตาม ศรส.เองได้ปรับกำลังตำรวจให้ทำหน้าที่ดูแลและเฝ้าระวังเหตุร้ายต่าง ๆ ทั่วกรุงเทพมหานคร โดยเพิ่มอัตรากำลังอีกถึง 2,000 นาย แต่ก็ยังมีข้อจำกัดที่ กปปส. ห้ามไม่ให้ตำรวจเข้าตรวจตราดูแลในบริเวณการชุมนุม ซึ่งตำรวจจะได้พยายามทำหน้าที่ต่อไปให้ดีที่สุด

2. ตามที่ ศรส.เห็นชอบให้ส่งข้อมูลเกี่ยวกับนายสาธิต เซกัล สัญชาติอินเดีย มีพฤติการณ์รับฟังได้ว่า เป็นบุคคลต่างด้าวที่มีเหตุอันควรเชื่อว่าเป็นผู้สนับสนุนการกระทำให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉินตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ เพื่อให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาดำเนินการต่อไปนั้น ขณะนี้คณะกรรมการพิจารณาคนเข้าเมือง ซึ่งเป็นคณะกรรมการตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวแล้วมีมติว่า นายสาธิตฯ มีพฤติการณ์เป็นที่น่าเชื่อว่าเป็นบุคคลที่เป็นภัยต่อสังคม หรือจะก่อเหตุร้ายให้เกิดอันตรายต่อความสงบสุขหรือความปลอดภัยของประชาชนหรือความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร เห็นควรเพิกถอนการอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร ตามมาตรา 53 ประกอบมาตรา 12(7) แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 และจะได้นำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเพื่อสั่งเพิกถอนการอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรของนายสาธิตฯ ต่อไป ซึ่ง ศรส. ได้รับทราบแล้วมีความเห็นว่า ตามมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ประกอบกับคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ พิเศษ 1/2557 เรื่อง การจัดตั้งศูนย์รักษาความสงบ ฉบับลงวันที่ 21 มกราคม 2557 อำนาจหน้าที่การสั่งเพิกถอนฯ ดังกล่าว ได้โอนมาเป็นของผู้อำนวยการ ศรส.แล้ว ศรส.จึงจะได้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป โดยจะให้ผู้อำนวยการ ศรส. ลงนามสั่งเพิกถอนการอนุญาตให้ นายสาธิตฯ มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรตามกฎหมายโดยเร็วต่อไป

3. ศรส.ได้รับรายงานจากกองบัญชาการตำรวจนครบาลและตำรวจภูธรภาคถึงความคืบหน้าในการดำเนินคดีกับแกนนำ กปปส. และแนวร่วม กรณีร่วมกันกระทำผิดด้วยการขัดขวางการเลือกตั้ง ด้วยวิธีการต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพมหานครและในต่างจังหวัดโดยเฉพาะภาคใต้ ซึ่งเป็นความผิดร้ายแรงต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เป็นการล่วงละเมิดสิทธิของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยตรง ขณะนี้มีจำนวนคดีประเภทขัดขวางการเลือกตั้งทั่วประเทศ จำนวน 185 คดี คดีประเภทเป็นเจ้าหน้าที่ กกต. จงใจละทิ้งหน้าที่ไม่จัดการเลือกตั้ง จำนวน 170 คดี รวมคดีทั้งสิ้น 355 คดี และศาลได้ออกหมายจับให้แล้วจำนวน 124 คน ขณะนี้ได้ตัวมาดำเนินคดีแล้วจำนวน 43 คน

4. ตามนโยบายของ ศรส. ร่วมกับส่วนราชการต่าง ๆ ได้เห็นถึงความจำเป็นและความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนจากการปิดกรุงเทพมหานครของ กปปส. โดยเฉพาะสถานที่ราชการ ดังนั้น เพื่อให้สถานที่ราชการสามารถกลับมาเปิดให้บริการประชาชนได้ตามเดิม ศรส. ร่วมกับส่วนราชการจึงได้ดำเนินการเปิดสถานที่ราชการต่าง ๆ ที่ถูกปิดให้เริ่มเปิดทำการได้ ขณะนี้สามารถเปิดได้ถึง 53 แห่งแล้ว แต่หลังจากที่ศาลแพ่งได้มีคำพิพากษา ส่งผลให้ ศรส.ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญหลักตามกฎหมายได้ และเป็นผลให้ กปปส. ไปบุกรุก ปิดล้อมสถานที่ราชการและขับไล่ข้าราชการไม่ให้ทำงานอีก โดยเฉพาะในเช้าวันนี้ กปปส. ได้ไปบุกรุกปิดล้อมส่วนราชการ จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ กรมศุลกากร กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง กรมสรรพากร และบริษัทเอกชน จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ สถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี บริษัทเอ็มลิ้ง เอเชีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

อธิบดีดีเอสไอกล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อเช้าวันนี้ศาลอาญาได้มีคำสั่งไม่อนุมัติหมายจับตามที่ ศรส. ขอให้ออกหมาย ฉ. รวม 13 คน ที่ได้มีการไต่สวนต่อเนื่องมาตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเหตุผลสำคัญคือศาลอาญาเห็นว่าเมื่อศาลแพ่งได้มีคำสั่งแล้ว ผลของคำสั่งศาลแพ่งจึงได้เป็นผลทำให้ศาลอาญาไม่อนุมัติหมายจับ 13 รายที่ ศรส. ขอเพิ่ม และในวันพุธตามที่ กปปส. ได้ยื่นขอเพิกถอนหมาย ฉ. หมายจับ 19 รายที่ศาลอาญาได้ออกให้แล้วนั้น ศรส. ได้เฝ้าติดตามและประเมินว่าศาลอาญาน่าจะเพิกถอน 19 หมายเช่นเดียวกับที่ไม่ออก 13 หมายให้ในวันนี้ ด้วยเหตุผลเดียวจากคำพิพากษาศาลแพ่ง เพราะฉะนั้นผลจากคำพิพากษาศาลแพ่งจึงส่งผลในวงกว้างอย่างมาก ทั้งเรื่องการออกหมาย ฉ. และเรื่องการจับกุมด้วย สำหรับการยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลแพ่ง กับการยื่นขอให้ทุเลาคำสั่งศาลแพ่งจะยื่นภายใน 2-3 วันนี้ โดย ศรส.จะทำอย่างรอบคอบเพื่อให้สถานการณ์เป็นปัจจุบัน ทั้งนี้ สถานการณ์มีแนวโน้มความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากศาลอาญาเพิกถอนหมายจับ 19 หมายที่ออกมาแล้ว ศรส. จะทำอย่างไร อธิบดีดีเอสไอกล่าวว่า ศรส. ต้องรอผลการยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลแพ่ง ถ้าศาลอุทธรณ์ทุเลาการบังคับให้ ศรส. จะนำผลของศาลอุทธรณ์ไปกราบเรียนศาลอาญา จะเห็นได้ว่าคำพิพากษาศาลแพ่งได้ส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมมากในขณะนี้

ผู้สื่อข่าวถามว่า ศรส. ได้มีการประเมินอย่างไรในช่วงเวลานี้ที่มีทั้งเหตุการณ์ความรุนแรงและอยู่ในช่วงที่เป็นสุญญากาศด้วย อธิบดีดีเอสไอกล่าวว่า ศรส. ประเมินแล้ว เราขอร้องให้ทุกฝ่ายทั้งผู้สนับสนุน กปปส. กลุ่ม นปช. ผู้คัดค้าน และกลุ่มอื่นได้อดทนอดกลั้น อย่าออกมาใช้ความรุนแรง เพราะ ศรส. ประเมินว่ามีแนวโน้มสถานการณ์จะวิกฤตขึ้นเรื่อย ๆ จนอาจนำไปสู่สงครามกลางเมือง

ผู้สื่อข่าวถามว่า ได้เตรียมแผนสำรองเรื่อง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.บ.มั่นคงไว้อย่างไร อธิบดีดีเอสไอกล่าวว่า ศรส. ต้องทำตามขั้นตอน สิ่งที่ทำถูกที่สุดคือต้องอุทธรณ์ เพราะถ้า ศรส. ไม่อุทธรณ์แล้วคำพิพากษาศาลแพ่งจะกลายเป็นประวัติศาสตร์ และจะค้างไว้อย่างนี้ เหตุการณ์บ้านเมืองในอนาคตจะเป็นปัญหา เพราะฉะนั้น ศรส. ต้องทำตามระบบที่ควรจะเป็นคือต้องอุทธรณ์เพื่อให้คดีถึงที่สุด ไม่มีทางเลือกอื่น

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีการเนรเทศนายสาธิต เซกัลป์ ที่หลังจาก ผู้อำนวยการ ศรส. ลงนามหนังสือคำสั่งแล้วสามารถเนรเทศนายสาธิตได้ทันทีหรือไม่ อธิบดีดีเอสไอกล่าวว่า ต้องใช้คำว่ามีผลตามกฎหมายให้ออกนอกราชอาณาจักร กระบวนการจะต้องกลับไปที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง หรือ ตม. ที่จะมีกระบวนการแจ้งคำสั่ง เป็นไปตามขั้นตอนของ ตม. แต่คงตอบไม่ได้ว่าจะใช้เวลากี่วัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น