วันพฤหัสบดีที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2557

ผอ.ศรส. เผยรัฐบาลเคารพคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีร่างพระราชบัญญัติเงินกู้ 2ล้านล้านบาท ขัดต่อรัฐธรรมนูญ


ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และ ผอ.ศรส. เผยรัฐบาลเคารพคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีร่างพระราชบัญญัติเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ขัดต่อรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตามยืนยันการดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศ และรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

วันนี้ (13 มี.ค.57) เวลา 10.30น. ที่ศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในฐานะผู้อำนวยการ ศรส. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ.... วงเงินไม่เกิน 2 ล้านล้านบาท ขัดรัฐธรรมนูญ ว่า เป็นการมองคนละมุม ศาลวินิจฉัยชัดเจนว่าหากจะมีงบประมาณไปบริหารราชการ ต้องจัดทำตามรัฐธรรมนูญ มาตรา169 เรียกว่างบประมาณรายจ่ายประจำปี หรืองบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ซึ่งแต่ละปีเกือบทุกรัฐบาลจะตั้งงบแบบขาดดุล เพื่อเอาเงินไปลงทุน แต่การขาดดุลจะขาดได้ไม่มาก เพราะมีเพดานการจัดทำงบประมาณ รัฐบาลเห็นว่าประเทศไทยกำลังเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จึงอยากพัฒนาความเจริญให้มีรถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ โดยอาจจะกู้ไม่ครบ 2ล้านล้านบาท และใช้หนี้ไม่ถึง 50 ปี หรือบางโครงการก็หาคนมาลงทุนต่อไป ดังนั้น เมื่อศาลรัฐธรรมนูญ ตัดสินให้ร่างพระราชบัญญัติเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ขัดต่อรัฐธรรมนูญนั้น รัฐบาลเคารพและเข้าใจในคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเห็นว่าโครงการดังกล่าวนั้น จะนำไปสู่การพัฒนาประเทศ ตลอดจนการรองรับประชาคมอาเซียน จึงตัดสินใจในการกู้เงินดังกล่าวนี้

ส่วนกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์จะยื่นให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ถอดถอนนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมคณะรัฐมนตรีนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และผู้อำนวยการ ศรส. กล่าวว่า เป็นสิทธิ์ที่สามารถทำได้ รัฐบาลไม่ได้กังกลแต่อย่างใด

พร้อมกันนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและผู้อำนวยการ ศรส. ได้กล่าวถึงเรื่องโครงการรับจำนำข้าวว่า ได้กลับไปดูเอกสารในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจรที่พัทยา จังหวัดชลบุรี นายกรัฐมนตรี ได้นำเสนอ ครม. และมีมติให้ ร.ต.อ.เฉลิมฯ เป็นประธานตรวจสอบโครงการทุจริตหลายโครงการ รวมถึงโครงการรับจำนำข้าวด้วย จึงตั้งคณะอนุกรรมการ 11 คณะ แสดงให้เห็นว่านายกรัฐมนตรีไม่ได้ละเลย แต่มีความห่วงใย และระมัดระวัง ถ้านายกรัฐมนตรีจะอ้างให้ ร.ต.อ.เฉลิมฯ เป็นพยานก็พร้อมไปเป็นพยานให้ และพร้อมเอาเอกสารไปชี้แจงต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งดูขั้นตอนการซื้อข้าวไม่พบการทุจริต พร้อมทั้งมีการตรวจสอบโรงสี โกดัง ใบประทวนข้าว พบการทุจริตบ้าง ก็มีการดำเนินคดี แต่ภายหลังเป็นเรื่องของกระทรวงพาณิชย์ และองค์การคลังสินค้าดำเนินการต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น