วันจันทร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2557
ร.ต.อ.เฉลิม ยืนยันนายกรัฐมนตรี-ครม.ต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมี ครม.ชุดใหม่
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง แสดงความเห็นระบุการออก พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ฉบับใหม่ ซ้อนกับ พ.ร.ฎ.ฉบับเดิม เป็นการขัดกับรัฐธรรมนูญ แจง พ.ร.ฎ.เลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 57 ยังมีสภาพบังคับใช้ ยืนยันนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังไม่พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี-ครม.ต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีครม.ชุดใหม่
วันนี้ (3 มี.ค.57) เวลา 13.50 น. ที่ห้องภักดีภูมิ กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ผู้อำนวยการ ศรส. แถลงแสดงความเห็นภายหลังจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไป เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ที่ได้มีการถกเถียงปัญหาข้อกฎหมายใน 2 เรื่อง ประกอบด้วย รัฐบาลจะต้องตราพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งใหม่ซ้ำอีกตามความเห็นของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ก.ก.ต.) หรือไม่ และ นายกรัฐมนตรีจะต้องพ้นจากตำแหน่งรักษาการหรือไม่ โดย ร.ต.อ.เฉลิม ในฐานะสมาชิกพรรคเพื่อไทยได้กล่าวแสดงความเห็นส่วนตัวดังนี้
ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า ในประเด็นที่ 1 ที่ ก.ก.ต. มีความเห็นว่ารัฐบาลจะต้องตราพระราชกฤษฎีกาฉบับใหม่อีก 1 ฉบับ กำหนดให้มีการเลือกตั้งซ่อมอีก 28 เขตเลือกตั้งที่ไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้ง นั้น ตนมีความเห็นว่า พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556 ซึ่งประกาศราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556 ตามมาตรา 4 บัญญัติว่า “ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการเลือกตั้งทั่วไป ในวันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557” ยังมีสภาพใช้บังคับอยู่ ไม่จำต้องออกพระราชกฤษฎีกาฉบับใหม่ ด้วยเหตุผลดังนี้
1. กระบวนการเลือกตั้ง ตามพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2556 ฉบับวันที่ 9 ธันวาคม 2556 ยังไม่เสร็จสิ้น เนื่องจาก ก.ก.ต. ไม่สามารถจัดให้ผู้ประสงค์จะสมัครรับเลือกตั้งยื่นใบสมัครพร้อมเอกสารและเงินค่าธรรมเนียมการสมัคร 5,000 บาท ต่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง จำนวน 28 เขตเลือกตั้งได้ โดยมีสาเหตุมาจากกลุ่มผู้ชุมนุมขัดขวาง จนเป็นเหตุให้ผู้ประสงค์จะสมัครรับเลือกตั้งต้องไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้เป็นหลักฐาน
เมื่อผู้ประสงค์จะสมัครรับเลือกตั้ง ไม่สามารถยื่นใบสมัครได้ กระบวนการเลือกตั้งในขั้นตอนต่อไป เช่น การประกาศเบอร์สมัคร การลงคะแนนเลือกตั้ง ก็ไม่สามารถกระทำต่อไปได้ จนไม่อาจจัดการเลือกตั้งให้เสร็จสิ้นตามกฎหมายได้ ภารกิจของ ก.ก.ต. ตามพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556 จึงต้องมีผลใช้บังคับอยู่ จนกว่าจะมีการเลือกตั้งสมบูรณ์ตามขั้นตอนของกฎหมาย ยกตัวอย่าง เช่น การลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าไม่สามารถกระทำได้ เพราะมีกลุ่มผู้ชุมนุมปิดล้อมหน่วยเลือกตั้ง หรือในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ก็ยังมีกลุ่มผู้ชุมนุมขัดขวางการลงคะแนนเลือกตั้ง กรณีต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้กระบวนการเลือกตั้งสะดุดหยุดลง ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งต่อไปได้ รัฐบาลก็ไม่ต้องตราพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งใหม่อีก เพราะ ก.ก.ต. ยังไม่ได้ดำเนินการให้เสร็จสิ้นตามขั้นตอนและกระบวนการเลือกตั้ง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 ได้ ดังนั้น พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2556 จึงยังมีผลใช้บังคับอยู่ ไม่ใช่หมดอายุหรือสิ้นสภาพตามที่ ก.ก.ต. เข้าใจ
2. การออกพระราชกฤษฎีกาฉบับใหม่ ซ้อนกับพระราชกฤษฎีกาฉบับเดิม จะขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 เพราะเป็นการออกพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป ซึ่งจะกระทำได้ก็แต่เฉพาะเมื่อมีการยุบสภา การออกพระราชกฤษฎีกายุบสภาถึง 2 ครั้ง ไม่อาจกระทำได้เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 บัญญัติไว้ว่า “การยุบสภาผู้แทนราษฎรจะกระทำได้เพียงครั้งเดียวในเหตุการณ์เดียวกัน” นอกจากนั้น ยังขัดกับระยะเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนดวันเลือกตั้งไว้ว่า จะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งภายในระยะเวลาไม่น้อยกว่า 45 วัน และไม่เกิน 60 วัน นับแต่วันยุบสภาผู้แทนราษฎรอีกด้วย
ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวถึงประเด็นที่ 2 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะต้องพ้นจากตำแหน่งผู้รักษาการหรือไม่ ในกรณีต่อไปนี้คือ 2.1 ไม่สามารถเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกภายใน 30 วัน นับแต่วันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 127 ได้ เพราะยังไม่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ครบร้อยละ 95 ของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั้งหมด ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 93 วรรคหก 2.2 ไม่สามารถเรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ความเห็นชอบบุคคลผู้สมควรเป็นนายกรัฐมนตรีให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรก ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 วรรคแรกได้
โดย ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวแสดงความเห็นในประเด็นดังกล่าว รวม 4 ข้อ ว่า 1. การเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ หรือ คณะรัฐมนตรีรักษาการภายหลังจากการยุบสภา รัฐธรรมนูญมาตรา 181 บัญญัติไว้เป็นกรณีเฉพาะว่า “คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่ง ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่”
รัฐธรรมนูญ มาตรา 181 บัญญัติไว้อยู่ในหมวดที่ 9 ว่าด้วยคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร คนละเรื่องกับรัฐสภาซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายค้านพยายามตีความให้โยงกัน เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง
รัฐธรรมนูญมาตรา 181 บัญญัติให้การบริหารราชการแผ่นดินจะต้องมีความต่อเนื่องกัน โดยไม่มีสุญญากาศ หรือช่องว่างในการบริหารประเทศ จึงต้องมีบทบัญญัติไว้โดยเฉพาะแต่ต้องจำกัดอำนาจในการบริหารประเทศภายใต้กำหนดเงื่อนไขบางประการ เช่น ต้องได้รับความเห็นชอบจาก ก.ก.ต. ในบางกรณี
นอกจากนั้น ยังไม่มีบทบัญญัติว่า คณะรัฐมนตรีรักษาการจะพ้นจากตำแหน่งเมื่อใด เพียงแต่บัญญัติให้อยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ามารับหน้าที่
2. การไม่สามารถประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ หรือไม่สามารถประชุมรัฐสภาครั้งแรกได้ ไม่ว่าในกรณีใด ๆ ก็เป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติ ถ้อยคำในรัฐธรรมนูญ มาตรา 127 เป็นเรื่องกิจการโดยเฉพาะของรัฐสภา เช่น การกำหนดวันประชุมรัฐสภาครั้งแรก การกำหนดสมัยประชุมสภา การขยายเวลา และการปิดสมัยประชุมสภา ซึ่งเป็นกิจการของสภาโดยแท้ ไม่เกี่ยวกับการซาวเสียงเลือกตัวนายกรัฐมนตรี
3. ส่วนกรณีการซาวเสียงเลือกตัวนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 172 ซึ่งจะต้องกระทำภายใน 30 วันนับแต่วันเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรก เมื่อไม่สามารถเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกได้ตามมาตรา 127 ได้ก็ถือว่า เงื่อนเวลา 30 วันที่กำหนดไว้ดังกล่าว ยังไม่เริ่มต้นนับหนึ่งได้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังไม่พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรักษาการ เพระยังไม่มีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่
4. รัฐธรรมนูญมาตรา 93 วรรคหก บัญญัติว่า “จะต้องดำเนินการให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ครบจำนวนตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ภายใน 180 วัน และให้อยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าอายุของสภาผู้แทนราษฎรที่เหลืออยู่”
ดังนั้นจึงเป็นภารกิจหน้าที่ของ ก.ก.ต. ที่จะต้องดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้ครบจำนวนภายใน 180 วัน การที่ ก.ก.ต. อ้างอุปสรรคเหตุขัดข้องในการจัดการเลือกตั้ง มีมูลเหตุมาจากกลุ่มผู้ประท้วงขัดขวางการเลือกตั้ง ก็ควรแก้ไขที่ต้นเหตุ คือ กลุ่มผู้ประท้วงที่กระทำผิดกฎหมาย โดยขอให้รีบแจ้งความดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด มิใช่ตั้งแง่กับรัฐบาลซึ่งไม่มีหน้าที่จัดการเลือกตั้ง รัฐบาลเป็นเพียงกลไกสนับสนุนให้มีการเลือกตั้ง ยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาการเลือกตั้ง เป็นหน้าที่ของ ก.ก.ต. และบุคคลที่ ก.ก.ต. สมควรไปคุยเจรจามากที่สุดคือกลุ่ม กปปส. ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น